หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Golimumab จากบทบาทในโรคข้อ…ขยายมาสู่โรคทางเดินอาหาร

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน มกราคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 4,782 ครั้ง
 
Golimumab เป็นยาประเภท monoclonal antibody ที่จับกับ tumor necrosis factor (TNF)-alpha จึงยับยั้งฤทธิ์ TNF-alpha ซึ่ง TNF-alpha มีบทบาทในพยาธิสรีรภาพที่เกี่ยวกับการตอบสนองด้านการอักเสบและด้านอิมมูนที่ผิดปกติ จึงเกี่ยวข้องกับการก่อโรคต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis), โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis), โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (ankylosing spondylitis), โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease; IBD) ทั้งชนิด Crohn's disease และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล (ulcerative colitis) เป็นต้น ยาต้าน TNF-alpha ชนิดต่างๆ ที่มีจำหน่าย เช่น etanercept, infliximab, adalimumab มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคข้ออักเสบที่เกี่ยวข้องกับอิมมูนผิดปกติและยาบางตัว เช่น infliximab, adalimumab มีการใช้ในโรคลำไส้อักเสบทั้งสองชนิดแล้ว ซึ่ง golimumab จะเป็นยาต้าน TNF-alpha อีกตัวหนึ่งที่ขยายข้อบ่งใช้จากเดิมที่ใช้เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้ออักเสบในโรคสะเก็ดเงิน (psoriatic arthritis) และโรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังขนาด 50 มิลลิกรัม เดือนละ 1 ครั้ง โดยเพิ่มเติมข้อบ่งใช้กับโรคลำไส้อักเสบซึ่งในเบื้องต้นใช้เฉพาะกรณีของลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลที่มีความรุนแรงในระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก ซึ่งผู้ป่วยต้องพึ่งพา corticosteroids หรือผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเหล่านี้หรือทนต่อยาเหล่านี้ไม่ได้ ได้แก่ aminosalicylates ชนิดรับประทาน, corticosteroids ชนิดรับประทาน, azathioprine, 6-mercaptopurine (6-MP) ขนาดยา golimumab ที่แนะนำคือ 200 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังในสัปดาห์ที่ 0 แล้วตามด้วย 100 มิลลิกรัมในสัปดาห์ที่ 2 หลังจากนั้นให้ฉีด 100 มิลลิกรัมทุกๆ 4 สัปดาห์ ซึ่งขนาดยาและวิธีการให้ยาดังกล่าวได้มาจากผลการศึกษาทางคลินิกที่กล่าวข้างล่างนี้

การที่ golimumab ได้รับอนุมัติให้นำมาใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลแล้วในบางประเทศเนื่องจากมีข้อมูลทางคลินิกที่สนับสนุนจำนวน 2 การศึกษา (Trial UC-1 และ Trial UC-2) ที่เป็นแบบ multi-center, randomized, double-blind, placebo-controlled trials ในผู้ป่วยที่อายุกว่า 18 ปี ซึ่งต้องพึ่งพา corticosteroids หรือผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษาอยู่เดิมหรือทนต่อยาเหล่านั้นไม่ได้ ใน Trial UC-1 มีผู้ป่วย 771 คน เป็นการใช้ยาระยะสั้นเพื่อหาขนาดยาและช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้ยา พบว่าขนาด 200 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังในสัปดาห์ที่ 0 แล้วตามด้วย 100 มิลลิกรัมในสัปดาห์ที่ 2 ให้ผลดีกว่ายาหลอก การเพิ่มขนาดยาสูงขึ้นไม่เพิ่มประสิทธิผล ส่วน Trial UC-2 มีผู้ป่วย 463 คน เป็นการศึกษาต่อเนื่องในผู้ที่ตอบสนองต่อยานี้และทนต่อการใช้ยาได้เพื่อดูประสิทธิผลระยะยาวโดยใช้ขนาดยาลดลงและเว้นระยะการให้ยาเป็นทุก 4 สัปดาห์ ศึกษานาน 54 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่ายาในขนาด 100 มิลลิกรัมให้ประสิทธิผลดีกว่ายาหลอกเมื่อประเมินผลสัปดาห์ที่ 30 และ 54 อีกทั้งประสิทธิผลของยาไม่ลดลงตลอดช่วง 54 สัปดาห์ ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบ เช่น การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract infection), คอหอยส่วนจมูกอักเสบ (nasopharyngitis) เป็นต้น

อ้างอิงจาก:

(1) http://www.centerwatch.com/drug-information/fda-approvals/; (2) Sandborn WJ, Feagan BG, Marano C, et al. subcutaneous golimumab induces clinical response and remission in patients with moderate-to-severe ulcerative colitis. Gastroenterology 2013. pii: S0016-5085(13)00846-9; (3) http://www.rxlist.com/simponi-drug.htm


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
golimumab monoclonal antibody tumor necrosis factor TNF-alpha rheumatoid arthritis psoriasis psoriatic arthritis ankylosing spondylitis inflammatory bowel disease IBD Crohn's disease ulcerative colitis etanercept infliximab adalimum
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้