การดื่มแอลกอฮอล์เสี่ยงต่อ Streptococcus pneumoniae เข้าสู่ปอดได้มากขึ้น
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤษภาคม ปี 2548 -- อ่านแล้ว 8,847 ครั้ง
Streptococcus pneumoniae เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ทั้งยังทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณอื่นๆของร่างกาย เช่น กระแสเลือด, สมองและไขสันหลัง, กระดูก, ข้อต่อ, หู และ sinus ได้อีกด้วย
ในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน S. pneumoniae จะเข้าไปจับที่บริเวณ nasopharynx เป็นบริเวณแรก และจะเข้าสู่ปอดได้โดยผ่านหลอดคอ ในภาวะปกติบริเวณนี้จะมี cilia คอยป้องกันไม่ให้ mucus และ microorganisms ต่างๆ เข้าสู่ปอด แต่เมื่อมีโรคเกิดขึ้นภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายจะยอมให้สารต่างๆ ผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้น รวมทั้ง S. pneumoniae สายพันธุ์ที่รุนแรงก็สามารถหลบการทำงานของ cilia เข้าสู่ปอดได้ด้วย
ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์จะไวต่อการติดเชื้อจาก S. pneumoniae เพราะเมื่อขาดสติ gag reflex จะลดลง และเสี่ยงต่อการที่แบคทีเรียและกรดจะเคลื่อนเข้าสู่ปอดได้มากขึ้น นอกจากนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ลดลงจึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ถ้าสูบบุหรี่ด้วยจะยิ่งเพิ่มความไวต่อเชื้อ S. pneumoniae เพราะผู้ที่สูบบุหรี่จะมีจำนวนของเชื้อที่ปากและ nasopharynx มากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ และการสูบบุหรี่ยังทำลาย cilia และลดประสิทธิภาพของ cilia ในการป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเข้าสู่ปอด
การศึกษาใน Sprague-Dawley rats จำนวน 64 ตัว แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับอากาศบริสุทธิ์ กับกลุ่มที่ได้รับควันบุหรี่วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดย 5 สัปดาห์สุดท้ายของการศึกษา หนูจะได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณต่างๆ กัน หนูจะถูกทำให้ติดเชื้อ S. pneumoniae ภายในโพรงจมูกเพื่อให้เชื้อเคลื่อนเข้าสู่ทางเดินหายใจต่อไป พบว่า หนูที่ได้รับแอลกอฮอล์จะสูญเสียความสามารถของ cilia ที่หลอดคอ และมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของเชื้อ S. pneumoniae เข้าสู่ปอดได้มากขึ้น นอกจากนี้หนูที่ได้รับควันบุหรี่ร่วมด้วยพบมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆที่หนูที่ได้รับควันบุหรี่เพียงอย่างเดียวไม่มีการเพิ่มขึ้นของการเคลื่อนที่ของเชื้อเข้าสู่ปอด และหนูที่ได้รับทั้งแอลกอฮอล์และควันบุหรี่นอกจากทำให้หน้าที่ของ cilia เสียไปแล้วยังทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงอีกด้วย