การศึกษายาชาชนิดพ่นจมูกเพื่อใช้ทดแทนยาชาชนิดฉีด สำหรับทันตกรรม
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มิถุนายน ปี 2556 -- อ่านแล้ว 6,200 ครั้ง
การศึกษาทางคลินิกระยะที่สอง พบว่ายาชารูปแบบพ่นจมูก (nasal spray) มีฤทธิ์เทียบเท่ากับการฉีด lidocaine โดยการศึกษาทดสอบยาชาพ่นจมูกที่มีชื่อว่า Kovacaine Mist มีตัวยาสำคัญคือ 3% tetracaine และ 0.05% oxymetazoline HCl ในอาสาสมัครสุขภาพดี 45 ราย โดยสุ่มแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับยาชาพ่นจมูกทั้งสองข้างร่วมกับยาฉีดปลอม (n=30) และกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาพ่นจมูกปลอมร่วมกับยาฉีด 2% lidocaine 1:100,000 epinephrine (n=15) การใช้ยาพ่นจมูกนั้น ทำโดยพ่นที่รูจมูกแต่ละข้าง ข้างละ 3 รอบ แต่ละรอบห่างกัน 4 นาที
หลังจากให้ยาแล้ว ผู้ทำการศึกษาได้ทดสอบประสิทธิภาพของยาชาโดยใช้แรงกด 20 g/cm2 ด้วย periodontal probe ไปยังจุดต่างๆ ในช่องปากของอาสาสมัคร พร้อมกับถามอาสาสมัครถึงอาการเจ็บปวด นอกจากนั้นให้อาสาสมัครทำการประเมินความเจ็บปวดของตนด้วยแบบสอบถาม the Heft-Parker visual analog scale หลังจากให้ยาเป็นเวลา 15, 20, 60 นาที และเมื่อสิ้นสุดการทดสอบ ระดับคะแนนแบ่งเป็น 0 mm = ไม่มีความเจ็บปวดเลย, 85 mm = เจ็บปวดปานกลาง, และ 170 mm = เจ็บปวดมากที่สุด
ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มที่ได้รับยาพ่นจมูก tetracaine มีร้อยละ 16.7 (n = 5/30) ที่ต้องการใช้ยาชาเพิ่ม ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาฉีด lidocaine มีจำนวนร้อยละ 6.7 (n = 1/15) ส่วนคะแนนจากแบบประเมินพบว่าอาสาสมัครจากทั้งสองกลุ่มมีคะแนนความเจ็บปวดในช่วงต่ำกว่าปานกลาง ส่วนอาการข้างเคียงพบว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตราการเต้นของหัวใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (pulse oximetry) และความดันโลหิต ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นมีอาสาสมัครจากกลุ่มที่ได้รับยาชาฉีดพ่นจมูก 1 ราย ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค Hashimoto โดยมีอาการปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูงขึ้นและตาแฉะปานกลาง ผู้ทำการศึกษาคาดว่าอาจเกิดจากยาที่ทดสอบ นอกจากนั้นอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่พบในกลุ่มที่ได้รับยาชาพ่นจมูก เช่น คัดจมูก น้ำมูลไหล จาม และชาบริเวณเพดานปาก โดยอาการต่างๆ หายได้เองโดยไม่ต้องรักษา
ผู้ทำการศึกษากล่าวว่า จากผลการศึกษาดังกล่าวทำให้ยาชารูปแบบพ่นนี้น่าจะเป็นยาชารูปแบบใหม่ที่อาจเทียบเท่าได้กับการใช้ยาชารูปแบบฉีดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยการใช้ยาชารูปแบบพ่นจมูกนี้อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนไข้ที่ไม่ชอบการทำฟันเนื่องจากกลัวเข็มฉีดยา แต่อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาต่อไปอีกมาก ก่อนจะได้รับการอนุมัติให้วางขายได้
Key words: local anesthetic, nasal spray, drug delivery system, ยาชาเฉพาะที่, ยาพ่นจมูก, รูปแบบการนำส่งยา