การทำงานนอกบ้านของมารดาไม่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสังคมและสติปัญญาของทารก
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2548 -- อ่านแล้ว 2,486 ครั้ง
จากการศึกษาของนักวิจัย University of Texus at Austin ซี่งเปรียบเทียบพัฒนาการทางสังคมและสติปัญญาในช่วง 3 ขวบปีแรกของทารกที่มารดาจำเป็นต้องออกทำงานนอกบ้านกับทารกที่มารดามีเวลาดูแลเต็มที่ พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน โดยผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ใน Journal Child Development ฉบับเดือนมีนาคม/เมษายน 2005
การศึกษาข้างต้นถือได้ว่ามีความสำคัญ เพราะทารกชาวอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่งนั้น มารดาจำเป็นต้องออกทำงานนอกบ้านในระหว่างที่ทารกอยู่ในช่วงขวบปีแรก ทำให้นักจิตวิทยาและมารดาจำนวนมากกังวลว่า ศักยภาพของมารดาในการรับรู้ความต้องการของทารก, พัฒนาการ รวมทั้งสติปัญญาของทารกจะลดลง
Aletha C Hudton และ Stacey Rosenkrantz Aronson ทำการวิจัยในมารดา 1,053 คนจาก The National Institute of Child Health and Human Development of Early Child Care โดยวิเคราะห์เวลาที่มารดาใช้ในชีวิตประจำวันตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งสังเกตพฤติกรรมของมารดาที่มีต่อทารกจากวิดีโอเทป เพื่อดูความสามารถของมารดาในการรับรู้ความต้องการของทารก นอกจากนี้ยังไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อดูสภาพแวดล้อมภายในบ้านอีกด้วย
และผลที่ได้ คือ ถึงแม้มารดาที่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้านจะมีเวลาให้กับทารกน้อยกว่ามารดาที่ดูแลทารกได้เต็มที่ แต่พวกเธอจะลดเวลาที่ใช้ทำงานบ้าน, พักผ่อน, ท่องเที่ยว หรือออกสังคมในช่วงสุดสัปดาห์มาให้เวลากับทารกมากขึ้นเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป นอกจากนี้มารดาที่ดูแลทารกได้เต็มที่นั้น จะรับรู้ความต้องการของทารกรวมทั้งดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้านได้ดีกว่ามารดาที่ต้องออกทำงานนอกบ้านเพียงเล็กน้อย แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าเวลาที่ให้กับทารก คือ บุคลิกภาพของมารดา, ความเชื่อ รวมทั้ง พฤติกรรมภายในครอบครัว จากข้อมูลทั้งหมด ทำให้นักวิจัยพบว่า ในช่วง 3 ขวบปีแรกของทารกนั้นถึงการที่มารดาจะต้องทำงานนอกบ้านหรือไม่ก็ตาม จะไม่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสังคมและสติปัญญาของทารกเลย