หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Melatonin ในอาหารเสริม อาจช่วยป้องกันไมเกรนได้

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2556 -- อ่านแล้ว 7,401 ครั้ง
 
Melatonin เป็นฮอร์โมนในร่างกาย สร้างจากต่อมไพเนียล (pineal gland) มีหน้าที่ควบคุมวงจรการหลับการตื่น (sleep/wake cycle) ของร่างกาย โดยถ้าการผลิต melatonin ถูกรบกวน อาจส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับได้ เช่น อาการนอนไม่หลับ การหยุดหายใจขณะนอนหลับ การนอนไม่หลับจากการเปลี่ยนเวลานอน เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะต่อมาได้ ในปัจจุบันได้มีการผลิต melatonin ออกมาในรูปของอาหารเสริม โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับ และยังช่วยลดอาการที่ร่างกายปรับเวลาไม่ทันและเกิดอาการอ่อนเพลีย (jet lag) ได้

มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรนระหว่าง melatonin และ amitriptyline เทียบกับยาหลอก โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับ melatonin ชนิดออกฤทธิ์เร็ว 3 mg กลุ่มที่ได้รับ amitriptyline 25 mg และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยผู้ป่วยจะได้รับยาเวลา 22.00-23.00 ของทุกวัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (การให้ยาในเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการหลั่งสาร melatonin ของร่างกาย) ผลลัพธ์ที่ได้คือ กลุ่มที่ได้รับ melatonin มีความถี่ในการปวดศีรษะลดลง โดยมีค่า mean reduction เท่ากับ 2.7 ซึ่งไม่แตกต่างกับกลุ่มที่ได้รับ amitriptyline ซึ่งมีค่าเท่ากับ 2.18 ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีค่าเท่ากับ 1.18 แม้ว่ากลุ่มที่ได้รับ melatonin จะมีความถี่ในการปวดศีรษะลดลงไม่แตกต่างกับกลุ่มที่ได้รับ amitriptyline แต่กลุ่มที่ได้รับ melatonin นั้นเกิดอาการข้างเคียงที่น้อยกว่า เช่น อาการง่วงระหว่างวัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับ melatonin มีน้ำหนักลดลงอีกด้วย แม้การศึกษาชิ้นนี้จะเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่ก็เป็นแนวโน้มที่น่าสนใจในการที่จะศึกษาผลของ melatonin ในการป้องกันไมเกรนต่อไปในอนาคต



American Academy of Neurology (AAN) 65th Annual Meeting. Abstract S40.005. Presented March 20, 2012.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้