นายแพทย์ Bruno vellas จากมหาวิทยาลัย Toulouse ประเทศฝรั่งเศส และคณะ ได้ทำการศึกษา GuidAge study เพื่อดูผลระยะยาวของสารสกัดจากแปะก๊วย(Ginkgo Biloba)ในการลดอุบัติการณ์การเกิดโรคสมองเสื่อม(Alzheimer’s disease)ในผู้สูงอายุอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป และมีปัญหาเรื่องความจำแต่ยังไม่มีภาวะสมองเสื่อม จำนวน 2820 ราย ผู้ป่วยจะถูกสุ่มให้ได้รับสารสกัดจากแปะก๊วย 120 mg วันละ 2 ครั้ง หรือยาหลอก เป็นเวลานาน 5 ปี แล้วทำการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงด้านความจำ ภาวะสมองเสื่อมทุกปี และอุบัติการณ์การเกิด probable alzheimer’s disease (probable AD) ซึ่งวินิจฉัยตามเกณฑ์ของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders Fourth Edition (DSM-IV) และ National Institute of Neurological and Communicative Disorders and Stroke–Alzheimer’s Disease and Related Disorders Association (NINCDS-ADRDA) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น probable AD มีจำนวน 61 รายจาก 1,406 รายในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากแปะก๊วย (คิดเป็นอุบัติการณ์การเกิดโรค 1.2 ราย/ผู้ป่วย 100 ราย) และ 73 รายจาก1,414 ราย ในกลุ่มที่ได้ยาหลอก (คิดเป็นอุบัติการณ์การเกิดโรค 1.4 ราย/ผู้ป่วย 100 ราย) ตามลำดับ คิดเป็น hazard ratio 0.84 (P = 0.306) และมีอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น จำนวนผู้ที่เสียชีวิต และการเกิดโรคหลอดเลือดสมองไม่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่ม แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากแปะก๊วยอาจไม่ช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะสมองเสื่อม อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดหลายประการ และต้องทำการศึกษายืนยันถึงผลระยะยาวของสารสกัดแปะก๊วยต่อไป