หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ความสำคัญของโพแทสเซียม…หากมีระดับผิดปกติ แก้ไขอย่างไร?

โดย นศภ.พัชรนันท์ พูนวัฒนาพงษ์ ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภก.กฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี เผยแพร่ตั้งแต่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2567 -- 3,693 views
 

โพแทสเซียมมีความสำคัญกับร่างกายอย่างไร?

โพแทสเซียม (potassium หรือนิยมใช้ K เป็นตัวย่อทางวิทยาศาสตร์) จัดเป็นแร่ธาตุที่สำคัญของของเหลวภายในเซลล์ มีคุณสมบัติเป็นไอออนที่มีประจุบวกและส่งผลต่อการกระจายของน้ำในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญในการรักษาระดับความเข้มข้นของของเหลวภายในและภายนอกเซลล์ รวมถึงการควบคุมความเป็นกรด-ด่าง และการแลกเปลี่ยนอิเล็กโทรไลต์ระหว่างเซลล์ โดยโพแทสเซียมจะถูกดูดซึมบริเวณลำไส้เล็กผ่านกลไกการแพร่ (passive diffusion) และเข้าสู่เซลล์ผ่านการทำงานของเอนไซม์ Na-K ATPase ซึ่งจะขับโซเดียม (Na) ออกจากเซลล์แลกกับนำโพแทสเซียม (K) เข้าเซลล์ โพแทสเซียมยังมีส่วนช่วยในการหดตัวของกล้ามเนื้อ การนำความรู้สึกทางประสาท และช่วยในการทำงานของเอนไซม์ภายในร่างกายหลายชนิดที่เกี่ยวกับกระบวนการเมแทบอลิซึม การขับทิ้งของโพแทสเซียมส่วนมากเกิดขึ้นทางปัสสาวะ มีเพียงบางส่วนที่ขับออกมาทางอุจจาระและเหงื่อ โดยคนทั่วไปต้องการโพแทสเซียมจากอาหารประมาณวันละ 1,950-3,900 มิลลิกรัม เพื่อให้มีระดับโพแทสเซียมในเลือดอยู่ในช่วง 3.5-5.0 mEq/L (1 มิลลิอิควิวาเลนท์ของโพแทสเซียม=โพแทสเซียม 39 มิลลิกรัม)1 โดยความต้องการโพแทสเซียมขึ้นกับแต่ละบุคคลตามช่วงวัย ดังแสดงไว้ในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ปริมาณโพแทสเซียมอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับกลุ่มบุคคลวัยต่าง ๆ1

กลุ่มวัย

อายุ

ปริมาณโพแทสเซียมอ้างอิง

ที่ควรได้รับ (มิลลิกรัมต่อวัน)

ทารก

0 - 5 เดือน

น้ำนมแม่

6 - 11 เดือน

925 - 1,550

เด็ก

1 - 3 ปี

1,175 - 1,950

4 - 5 ปี

1,525 - 2,550

6 - 8 ปี

1,625 - 2,725

วัยรุ่น

ชาย

9 - 12 ปี

1,975 - 3,325

13 - 15 ปี

2,450 - 4,100

16 - 18 ปี

2,700 - 4,500

หญิง

9 - 12 ปี

1,875 - 3,125

13 - 15 ปี

2,100 - 3,500

16 - 18 ปี

2,150 - 3,600

ผู้ใหญ่

ชาย

19 - 30 ปี

2,525 - 4,200

31 - 50 ปี

2,450 - 4,100

51 - 60 ปี

2,450 - 4,100

61 - 70 ปี

2,450 - 4,100

มากกว่า หรือ เท่ากับ 71 ปี

2,050 - 3,400

หญิง

19 - 30 ปี

2,050 - 3,400

31 - 50 ปี

2,050 - 3,400

51 - 60 ปี

2,050 - 3,400

61 - 70 ปี

2,050 - 3,400

มากกว่า หรือ เท่ากับ 71 ปี

1,825 - 3,025

หญิงตั้งครรภ์

ไตรมาสที่ 1

+ 0

ไตรมาสที่ 2

+ 350 - 575

ไตรมาสที่ 3

+ 350 - 575

หญิงให้นมบุตร

0 - 5 เดือน

+ 575 - 975

6 - 11 เดือน

+ 575 - 975

ภาวะผิดปกติจากระดับโพแทสเซียมในร่างกายและการแก้ไข

Hypokalemia: ระดับโพแทสเซียมต่ำ (น้อยกว่า 3.5 mEq/L)

- อาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ร่วมกับภาวะอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน สูญเสียเหงื่ออย่างรุนแรง สูญเสียฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด และการมีภาวะเครียด2 นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิดซึ่งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุ เช่น ยาสวนล้างลำไส้ ยาช่วยขับถ่าย (laxative) ยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide ยาขยายหลอดลมชนิดพ่น และยาจำพวกสเตียรอยด์2

- อาการแสดงมักไม่จำเพาะ เช่น อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ท้องผูก หากระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำลงจนน้อยกว่า 3.0 mEq/L ภายในเวลารวดเร็วอาจทำให้เกิดการเต้นผิดจังหวะของหัวใจได้

- การรักษาในโรงพยาบาล มักใช้ยาน้ำ KCl elixir ซึ่งทุก ๆ การรับประทานยาที่มีปริมาณโพแทสเซียม 20 mEq จะสามารถเพิ่มระดับโพแทสเซียมในเลือดได้สูงขึ้น 0.25 mEq/L3 โดยยาที่มีใช้ในแต่ละโรงพยาบาลมีความเข้มข้นต่างกัน

- ภาวะขาดโพแทสเซียมในเบื้องต้นอาจแก้ไขด้วยการรับประทานอาหารที่มีปริมาณโพแทสเซียมสูง เช่น เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว และผลไม้บางชนิด ดังแสดงไว้ในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 แหล่งอาหารของโพแทสเซียม1

แหล่งอาหาร

ปริมาณโพแทสเซียม (มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม)

เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา และเนื้อวัว

200-400

กระถิน (ฝักแก่และยอดอ่อน) ผักบุ้งไทย ชะอม ปวยเล้ง

400-500

กระเจี๊ยบ (ดอก) ขี้เหล็ก (ใบ) ชะพลู (ใบ)

500-600

กล้วย มะละกอสุก ลำไย ขนุน

300-400

ทุเรียน

430-680

ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ

600-1,600

ข้าวกล้อง เมล็ดฟักทอง

325-400

Hyperkalemia: ระดับโพแทสเซียมสูง (มากกว่า 5.0 mEq/L)

- อาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงในผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่องที่มีการขับโพแทสเซียมออกทางปัสสาวะแย่ลง ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่เกิดขึ้นในผู้ที่มีการทำงานของไตปกติ หรืออาจเกิดจากภาวะที่ผนังเซลล์ในร่างกายถูกทำลาย (intracellular injury) ทำให้โพแทสเซียมรั่วออกมาด้านนอกเซลล์ (extracellular) การสูญเสียน้ำแบบเฉียบพลัน หรือการมีภาวะหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ยังมียาบางชนิดที่สามารถส่งผลให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้นได้ เช่น4

- ยาลดความดัน: ยากลุ่ม angiotensin converting enzyme (ACE) inhibitors เช่น enalapril, captopril และ ramipril เป็นต้น ยากลุ่ม angiotensin receptor blocker (ARBs) เช่น losartan, valsartan เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ลดการขับออกของโพแทสเซียมทางปัสสาวะ

- ยาขับปัสสาวะกลุ่ม potassium-sparing เช่น spironolactone, amiloride ซึ่งยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ลดการกักเก็บน้ำและโซเดียม ส่งผลลดการขับออกของโพแทสเซียม

- ภาวะโพแทสเซียมสูงในระยะแรก (5.0-5.5 mEq/L) มักไม่ทำให้เกิดอาการแสดง แต่หากระดับโพแทสเซียมสูงขึ้นจนมีค่า 6.5 mEq/L ขึ้นไป จะส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ อัมพาต ระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติ จนอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้

- การรักษาภาวะโพแทสเซียมสูงสามารถทำได้หลายแนวทางขึ้นกับความรุนแรงและอาการแสดง แต่มักจะต้องทำในสถานพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งกลุ่มยาที่ใช้ ได้แก่4

- Calcium gluconate ใช้สำหรับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมกับกราฟการเต้นของหัวใจผิดปกติ โดย calcium จะออกฤทธิ์ช่วยป้องกันการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ5

- Insulin ใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยยาจะออกฤทธิ์ทำให้ K ถูกนำเข้าเซลล์มากขึ้น แต่ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเรื่องภาวะน้ำตาลต่ำได้

- กลุ่มยาเพิ่มการขับโพแทสเซียมออกทางไต ได้แก่ ยาขับปัสสาวะกลุ่ม loop diuretics เช่น furosemide

- กลุ่มยาเพิ่มการขับโพแทสเซียมที่ทางเดินอาหาร เช่น sodium polystyrene sulfonate (kayexalate) และ calcium polystyrene sulfonate (kalimate) โดยยาจะออกฤทธิ์จับโพแทสเซียมที่มากับอาหารและน้ำย่อยก่อนจะพาไปขับออกทางอุจจาระ6,7

บทสรุป

โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการทำงานมากมายภายในร่างกาย ความผิดปกติของระดับโพแทสเซียมอาจทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติซึ่งอาจรุนแรงจนทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและเสียชีวิตได้ สำหรับภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำอาจแก้ไขด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งโพแทสเซียมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาวะโพแทสเซียมสูงอาจแก้ไขด้วยการใช้ยา ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง

  1. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. [อินเตอร์เน็ต]. 2563.[เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก : https://ods.od.nih.gov/factsheets/ Potassium-HealthProfessional/.
  2. Castro D, Sharma S. Hypokalemia. StatPearls [Internet]. 2024. [cited 12 Aug 2024]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482465/.
  3. McMahon RS, Bashir K. Potassium chloride. StatPearls [Internet]. 2024.[cited 13 Aug 2024]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557785/.
  4. Simon LV, Hashmi MF, Farrell MW. Hyperkalemia. StatPearls [Internet] 2024. [cited 12 Aug 2024]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470284/.
  5. Chakraborty A, Patel P, Can AS. Calcium gluconate. StatPearls [Internet]. 2024.[cited 12 Aug 2024]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557463/.
  6. Pitt, B., & Bakris, G. L. New potassium binders for the treatment of hyperkalemia. American Heart Association Journal (AHA). 2016; 66(4):731-738.
  7. Chaitman M, Dixit D, Bridgeman MB. Potassium-binding agents for the clinical management of hyperkalemia. Pharmacy and Therapeutics. 2016; 41(1):43.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โพแทสเซียม potassium K hypokalemia hyperkalemia การรักษา
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้