หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ฉี่หนู...อาจป้องกันได้ด้วยยา

โดย นศภ.ปรมินทร์ นิยมเดชา ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภก.กฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี เผยแพร่ตั้งแต่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 -- 917 views
 

ฉี่หนูคืออะไร

โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส (leptospirosis) เกิดจากการติดเชื้อเลปโตสไปรา (Leptospira) ซึ่งพบได้ในแหล่งน้ำหรือดินที่ปนเปื้อน ทั้งจากแหล่งน้ำฝนบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือเกิดอุทกภัย รวมถึงแหล่งน้ำจืด เชื้อโรคนี้สามารถก่อโรคได้ทั้งในคนและสัตว์ หากไม่ได้รับการรักษาการติดโรคฉี่หนูอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับวาย หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้1 โรคฉี่หนูพบมากในพื้นที่เขตร้อนทั่วโลกโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาตะวันออก-ซับซาฮารา โอเชียเนีย และแคริบเบียน1 สำหรับประเทศไทยโรคฉี่หนูสามารถพบได้ทุกพื้นที่ของประเทศและพบได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะฤดูฝน จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 7 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยสงสัยโรคฉี่หนูจำนวน 2,070 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 3.13 ต่อประชากรแสนคน ผู้เสียชีวิตจำนวน 27 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.04 ต่อประชากรแสนคน2

เชื้อเลปโตสไปราเป็นแบคทีเรียสายเกลียว (spirochetes) แบ่งออก 2 สปีชีส์3 ได้แก่ biflexa ซึ่งไม่ก่อโรค และ interrogans ที่สามารถก่อโรคเลปโตสไปโรสิสในคนและสัตว์โดยแพร่ผ่านสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ สุนัข แมว หรือปศุสัตว์ โดยหนูเป็นพาหะที่พบมากที่สุด เมื่อสัตว์เหล่านี้ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการของโรคแต่ยังคงปล่อยเชื้อโรคฉี่หนูออกมากับปัสสาวะเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี โดยเชื้อโรคฉี่หนูจะแพร่กระจายผ่านปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อและสามารถอยู่รอดในน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนปัสสาวะได้นานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน วิธีการแพร่ผ่านของเชื้อที่พบเจอบ่อย ได้แก่ ทางผิวหนังอ่อน (บริเวณซอกนิ้วมือและเท้า) เยื่อบุอ่อน (บริเวณตา จมูก และปาก) และแผลถลอก4

อาการและการวินิจฉัยโรคฉี่หนู

อาการของโรคแบ่งเป็น 2 ระยะหลัก คือ 1) ระยะเฉียบพลันซึ่งจะเกิดขึ้นใน 3-9 วันแรก ผู้ป่วยจะมีไข้ ตาแดง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โดยระยะนี้เป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดได้จนถึง 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวได้ 2) อาจมีบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนโดยมีอาการนำ คือ ภาวะตัวเหลืองตาเหลืองหรือภาวะตับอักเสบดีซ่าน นำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน ตับวาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาการของโรคในช่วงแรกจำแนกได้ยากเมื่อเปรียบเทียบกับโรคหวัดหรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ จึงจำเป็นต้องซักประวัติร่วมกับการประเมินอาการเพื่อวินิจฉัยโรค ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจระดับแอนติบอดีในเลือดของผู้ป่วยที่มีต่อเชื้อ การเพาะแยกเชื้อ หรือการตรวจสารพันธุกรรมด้วยวิธี PCR จากตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ น้ำไขสันหลัง เป็นต้น ทั้งนี้หากไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงทีอาจส่งผลต่อความผิดปกติที่เพิ่มมากขึ้น เช่น กล้ามเนื้อสลายตัว เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ การทำงานของอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ เกิดเลือดออกที่อวัยวะภายในไปจนถึงเสียชีวิตได้4

การป้องกันการติดเชื้อด้วยการใช้ยา

Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำ doxycycline เป็นยาปฏิชีวนะที่สามารถใช้ในการป้องกันการติดเชื้อเลปโตสไปราและโรคฉี่หนูได้1 โดยแนะนำให้ใช้ยาป้องกันในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงด้วย doxycycline 200 มิลลิกรัม ทุก 1 สัปดาห์ โดยเริ่มรับประทานยา 1 สัปดาห์ก่อนสัมผัสเชื้อ และรับประทานต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่สัมผัสเชื้อ มีรายงานการศึกษาประสิทธิภาพของ doxycycline ในกลุ่มตัวอย่างประเทศไทยในช่วงน้ำท่วม พบว่ากลุ่มที่ได้รับ doxycycline 200 มิลลิกรัมครั้งเดียว ภายใน 0-3 วันหลังสัมผัสน้ำขัง สามารถลดการติดเชื้อได้ร้อยละ 76.8 และลดการเกิดโรคฉี่หนูได้ประมาณร้อยละ 86.3 แสดงให้เห็นว่า doxycycline สามารถช่วยลดการเป็นโรคและอาจลดอัตราการตายจากโรคฉี่หนูได้ นอกจากนี้การศึกษายังพบว่าการมีบาดแผลและการสัมผัสน้ำขังนานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นโรคฉี่หนู5 ทั้งนี้การใช้ doxycycline ยังมีข้อจำกัดด้านความปลอดภัยและความเหมาะสมในการใช้งานอยู่มากประชาชนจึงไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เองเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการแพ้ยาหรือการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง

Doxycycline

Doxycycline เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม tetracyclines ซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในวงกว้าง (broad spectrum antibiotics) ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อป้องกันหรือรักษาสภาวะเฉพาะที่หลากหลาย เช่น การติดเชื้อริกเก็ตเซียล การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อโรคที่ตา โรคแอนแทรกซ์ โรคติดเชื้ออะมีเบียในลำไส้เฉียบพลัน โรคท้องร่วงในนักเดินทาง และโรคสิวรุนแรง ทั้งนี้ doxycycline ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาที่สามารถใช้เพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการสำหรับป้องกันการติดเชื้อเลปโตสไปราและโรคเลปโตสไปโรสิส แต่มีการศึกษาทางคลินิกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่สนับสนุนการใช้5,6

ข้อควรระวังและอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบจากการใช้ doxycycline ได้แก่

- ห้ามในผู้ที่แพ้ยากลุ่ม tetracyclines

- อาการทางระบบทางเดินอาหารโดยทั่วไปซึ่งรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง ได้แก่ คลื่นไส้ (4-33%) อาการปวดท้อง (12-33%) อาเจียน (4-8%) และท้องเสีย (6-7.5%) การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าอาการคลื่นไส้มีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้นหากรับประทานขณะท้องว่าง7

- อาการไวต่อแสงแดด (photosensitivity) เช่น เกิดผื่นแดงขึ้นเมื่อสัมผัสแดด ซึ่งมีรายงานใน 7.3-21.2% ของผู้ที่ใช้ยา โดยบุคคลที่มีผิวสีอ่อนอาจมีแนวโน้มที่จะไวต่อแสงมากกว่า7

- การเปลี่ยนสีของฟันอย่างถาวรและภาวะเคลือบฟันผิดปกติในช่วงการพัฒนาการของฟันในเด็ก จึงไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กหรือหญิงตั้งครรภ์8

- โรคท้องร่วงจากเชื้อ Clostridium difficile ซึ่งเป็นผลมาจากการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในวงกว้างอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนทำให้สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ผิดปกติไป เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียฉวยโอกาส7

- การเจริญของเชื้อจุลินทรีย์อื่น ๆ รวมไปถึงการติดเชื้อราบริเวณช่องคลอด7

- ปฏิกิริยาทางผิวหนังที่รุนแรง (โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง, erythema multiforme, Stevens-Johnson syndrome, toxic epidermal necrolysis)8

นอกจากนี้ยังต้องระวังอันตรกิริยาระหว่างยาที่ผู้ป่วยใช้ร่วมกับการรับประทานยา doxycycline ดังนี้

- ยาลดกรด ยาระบายที่มีแมกนีเซียม อาหารเสริมที่มีแคลเซียม ธาตุเหล็ก รวมถึงการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมทำให้การดูดซึมของยา doxycycline ลดลง8

- ยากันชักบางกลุ่ม เช่น บาร์บิทูเรต คาร์บามาเซพีน และฟีนิโทอิน ทำให้ค่าครึ่งชีวิตของ doxycycline ลดลงจากการกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในตับ7

- กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) ชนิดรับประทาน พบว่ายาในกลุ่ม tetracycline สามารถขัดขวางกระบวนการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ ลดการทำงานของ prothrombin และลดการผลิตวิตามินเคโดยแบคทีเรียในลำไส้7

- ยาดิจอกซิน (digoxin) พบว่าผู้ป่วยอาจมีระดับดิจอกซินในซีรั่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากจุลินทรีย์ในลำไส้ที่เปลี่ยนแปลงไป และการกำจัดดิจอกซินลดลง7

บทสรุป

การดูแลสุขอนามัยและการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่อาจปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ การเดินลุยน้ำหลังฝนตกหนักหรือน้ำท่วม การย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า การทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาในแหล่งน้ำจืด การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโดยไม่ผ่านการต้มหรืออุ่นร้อน รวมถึงการทำงานกับสัตว์ เช่น การสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์ที่สามารถเป็นพาหะของเชื้อโรคฉี่หนูได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยขีดข่วน รักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงานไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู และรีบชำระล้างร่างกายทันทีหลังจากมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ แต่หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ร่วมกับมีประวัติการเดินลุยน้ำขัง ทำกิจกรรมทางน้ำหรือทำการเกษตร อาจทำให้นึกถึงโรคฉี่หนูได้ การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะมีโอกาสในการหายขาดจากโรคสูงกว่า ซึ่งความล่าช้าในการรักษาอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนูอาจได้รับประโยชน์จากการป้องกันด้วยยา doxycycline เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการและภาวะแทรกซ้อนของโรค ภายใต้คำแนะนำการใช้ยาของแพทย์และเภสัชกร

เอกสารอ้างอิง

  1. CDC. Leptospirosis [internet]. 2024 [cited 2024 Sep 27]. Available from: https://www.cdc.gov/leptospirosis/about/index.html#:~:text=Leptospirosis%20is%20a%20disease%20caused,with%20contaminated%20water%20or%20soil.
  2. ลิลาวรรณ สุขโข, ชญานิจ มหาสิงห์, ภาวินี ด้วงเงิน. โรคเลปโตสไปโรสิส. กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 9 ตุลาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/ uploads/ckeditor2//files/แจ้งเตือนโรค%20Leptospirosis%2014.8.2024.pdf.
  3. Brabb T, Newsome D, Burich A, Hanes M. Infectious Diseases. ACLAM. 2012:637-83.
  4. Rajapakse S. Leptospirosis: clinical aspects. Clin Med (Lond). 2022; 22(1):14-17.
  5. Chusri S, McNeil EB, Hortiwakul T, Charernmak B, Sritrairatchai S, Santimaleeworagun W, et al. Single dosage of doxycycline for prophylaxis against leptospiral infection and leptospirosis during urban flooding in southern Thailand: a non-randomized controlled trial. J Infect Chemother. 2014; 20(11):709-15.
  6. Tabei K, Win TZ, Kitashoji E, Brett-Major DM, Edwards T, Smith C, et al. Antibiotic prophylaxis for leptospirosis. Cochrane Database Syst Rev. 2022; 2022(2):CD014959.
  7. Styka AN, Savitz DA. Assessment of Long-Term Health Effects of Antimalarial Drugs When Used for Prophylaxis. NASEM. [Internet]. 2020. [cited 2024 Oct 10]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK556599/.
  8. Food and drug administration. Doxycycline Capsules, USP [internet]. 2022 [cited 2024 Oct 11]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2022/ 050641Orig1s032lbl.pdf.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ฉี่หนู โรคติดเชื้อ น้ำท่วม ป้องกัน
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้