หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ใช้ยาแก้ปวดอย่างไร...ไม่ให้กัดกระเพาะ

โดย นศภ. ภูรีนุช ศิลปวิศาล ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย เผยแพร่ตั้งแต่ 7 กันยายน พ.ศ.2566 -- 35,909 views
 

ปัจจุบันยาแก้ปวดมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เนื่องจากอาการปวดหลายชนิดมีสาเหตุมาจากการทำงานหนัก ความเครียด หรืออุบัติเหตุจากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้หลายคนต้องหันมาพึ่งยาแก้ปวด โดยเฉพาะยากลุ่ม NSAIDs (เอ็น-เสด) อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาแก้ปวด เช่น กลัวว่ายาจะกัดกระเพาะ หรือทำให้เกิดอันตรายรุนแรง บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารของยาแก้ปวดกลุ่มนี้กัน

รู้จักยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs

ยาแก้ปวดตัวแรง ๆ ที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากนั้นมีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า ยาบรรเทาการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs) หรือ ยากลุ่ม NSAIDs (เอ็น-เสด) เป็นยาที่สามารถใช้ลดปวดและแก้อักเสบได้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดปวดได้ดีกว่ายาพาราเซตามอลที่ใช้กันทั่วไป

เนื่องจาก NSAIDs ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและความปวด เรียกว่า ค็อกซ์ (COX ชื่อเต็ม คือ cyclooxygenase) ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ COX-1 และ COX-2 อีกทั้ง NSAIDs บางชนิดสามารถยับยั้ง COX-1 ได้มากกว่า COX-2 (รูปที่ 1) ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะรบกวนการสร้างเยื่อเมือกปกป้องทางเดินอาหารจากการทำลายของกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้นยาเหล่านี้จึงอาจเสี่ยงทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ง่าย ขณะที่ ยาที่ยับยั้ง COX-2 ได้มากกว่า มีแนวโน้มที่จะรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือดและการหดตัวของหลอดเลือด จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

รูปที่ 1 ความสามารถของยากลุ่ม NSAIDs ในการยับยั้งเอนไซม์ COX-1 และ COX-2[1-4]

NSAIDs ทุกชนิดกัดกระเพาะหรือไม่?[5]

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าเอนไซม์ COX-1 มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการสร้างเยื่อเมือกปกป้องทางเดินอาหาร ดังนั้น NSAIDs ทุกชนิดมีโอกาสที่จะทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ยาที่มีความสามารถในการยับยั้ง COX-1 ได้สูง (รูปที่ 1) เช่น aspirin, indomethacin, ibuprofen, naproxen, ketoprofen, sulindac, piroxicam, tenoxicam, mefenamic acid, nabumetone และ flurbiprofen อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ง่ายกว่า[6]

ส่วนยาที่มีความจำเพาะเจาะจงในการยับยั้งเอนไซม์ COX-2 มากขึ้น (รูปที่ 1) ได้แก่ celecoxib, etoricoxib และ parecoxib จะช่วยลดผลข้างเคียงนี้ แต่ในผู้ป่วยบางคนที่มีความเสี่ยงสูงมาก (จะกล่าวต่อไป) อาจเกิดแผลในทางเดินอาหารจากยาเหล่านี้ได้เช่นกัน

กัดกระเพาะ อาการเป็นอย่างไร[7-8]

อาการเกี่ยวกับทางเดินอาหารจากยากลุ่ม NSAIDs อาจแบ่งออกเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ไปจนถึงอาการรุนแรง ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ด้วยตนเอง ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 อาการข้างเคียงต่อทางเดินอาหารที่อาจเกิดจาก NSAIDs
(ภาพการ์ตูนจาก: pngitem.com และ livplusthailand.com)

จากรูปจะเห็นได้ว่า หากบางคนอาการไม่รุนแรงอาจรอให้อาการหายเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม แต่หากผู้ป่วยมีอาการถึงขั้นมีเลือดออกในทางเดินอาหาร พบอุจจาระมีเลือดปน อาเจียนเป็นเลือดสด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ซีด เพลีย เป็นลม อาการเหล่านี้ล้วนเป็นภาวะของการเสียเลือดทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นภาวะอันตรายที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียเลือดมากขึ้นและถึงแก่ชีวิตได้

ปัจจัยอะไรที่ส่งเสริมให้เกิดผลข้างเคียงของ NSAIDs ต่อทางเดินอาหาร[9]

ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารจาก NSAIDs แสดงในรูปที่ 3 ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งที่จะใช้ยากลุ่มนี้ เพื่อให้ได้รับยาและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวขณะใช้ยาอย่างเหมาะสม

รูปที่ 3 ปัจจัยส่งเสริมการเกิดผลเสียของยากลุ่ม NSAIDs ต่อทางเดินอาหาร
(ภาพการ์ตูนจาก: pixabay.com, vecteezy.com และ creazilla.com)

คำแนะนำสำหรับการรับประทาน NSAIDs

ในผู้ที่มีโอกาสเกิดโรคกระเพาะหรือแผลในทางเดินอาหาร และจำเป็นที่จะต้องใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs แพทย์หรือเภสัชกรอาจพิจารณาจ่ายยาที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อการยับยั้ง COX-2[10-11] ได้แก่ celecoxib, etoricoxib และ parecoxib และพิจารณาให้ยายับยั้งการหลั่งกรดร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวของผู้ป่วยแต่ละคน นอกจากนี้ NSAIDs ยังสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจ หรือไตได้ โดยเฉพาะหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงควรใช้ยากลุ่มนี้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร

สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs และกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร มีข้อแนะนำเบื้องต้นในการลดผลข้างเคียง ดังนี้

  1. รับประทานยาหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ
  2. ไม่แนะนำให้รับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ให้ใช้เฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น
  3. หากมีความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งมีโรคประจำตัวใด ๆ ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกร
  4. ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรหรือแพทย์
  5. หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเกิดแผลในทางเดินอาหารระหว่างใช้ยา ควรรีบปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์

บทสรุป

จากข้อมูลที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs จะมีประสิทธิภาพดีในการลดปวด แต่ก็มีข้อที่ควรระวังเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ต่อทางเดินอาหารและด้านอื่น ๆ ดังนั้นควรปฏิบัติตามข้อแนะนำเบื้องต้นดังที่ได้กล่าวนี้ ซึ่งจะทำให้ใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลเสียน้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. สุรศักดิ์ นิลกานุวงศ์. ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs) ใน : สุรศักดิ์ นิลกานุวงศ์ และ คณะ, บก. ตำราโรคข้อ พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ: เอส.พี.เอ็น.การพิมพ์จำกัด ; 2548. หน้า 1168-1193.
  2. Brune K, Patrignani P. New insights into the use of currently available non-steroidal anti-inflammatory drugs. J Pain Res. 2015; 8:105-118.
  3. Dubois RN, Abramson SB, Crofford L, et al. Cyclooxygenase in biology and disease. FASEB J. 1998; 12(12):1063-1073.
  4. Wallace JL. Prostaglandins, NSAIDs, and gastric mucosal protection: why doesn't the stomach digest itself? Physiol Rev. 2008; 88(4):1547-1565.
  5. McEvoy L, Carr DF, Pirmohamed M. Pharmacogenomics of NSAID-Induced Upper Gastrointestinal Toxicity. Front Pharmacol. 2021; 12:684162.
  6. Blobaum AL, Marnett LJ. Structural and functional basis of cyclooxygenase inhibition. J Med Chem. 2007; 50(7):1425-1441.
  7. Barkun A, Leontiadis G. Systematic review of the symptom burden, quality of life impairment and costs associated with peptic ulcer disease. Am J Med 2010; 123:358.43.
  8. Gururatsakul M, Holloway RH, Talley NJ, Holtmann GJ. Association between clinical manifestations of complicated and uncomplicated peptic ulcer and visceral sensory dysfunction. J Gastroenterol Hepatol. 2010; 25:1162.
  9. Varrassi G, Pergolizzi JV, Dowling P, Paladini A. Ibuprofen Safety at the Golden Anniversary: Are all NSAIDs the Same? A Narrative Review. Adv Ther. 2020; 37(1):61-82.
  10. Arber N, DuBois RN. Nonsteroidal anti-inflammatory drugs and prevention of colorectal cancer. Curr Gastroenterol Rep. 1999; 1(5):441-448.
  11. Gupta RA, Dubois RN. Colorectal cancer prevention and treatment by inhibition of cyclooxygenase-2. Nat Rev Cancer. 2001; 1(1):11-21.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาแก้ปวด NSAIDs กัดกระเพาะ
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้