ตัวไรขน (demodex) เป็นปรสิตขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า[1] ต้องอาศัยมนุษย์ในการเจริญเติบโต โดยอาศัยอยู่บนใบหน้าบริเวณรูขุมขนโคนขนตาและต่อมไขมันที่เปลือกตา แม้ว่าปกติเเล้วไรขนจะอยู่บนร่างกายมนุษย์แบบไม่ก่อโรค แต่หากมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ไรขนอาจเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการคัน ระคายเคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา ตาแดง และพบเศษรังแคทรงกระบอกที่โคนขนตา (cylindrical dandruff)[2],[3] ซึ่งอาการมักคล้ายโรคทางตาอื่น ๆ เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิเเพ้ พบว่าความชุกในการพบไรขนในผู้ที่มีเปลือกตาอักเสบเรื้อรังจะสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น เเต่ไม่สัมพันธ์กับเพศ[1] โดยผู้ที่มีอาการเปลือกตาอักเสบประมาณ 45% มีสาเหตุมาจากไรขน และ 84% พบในผู้ที่อายุตั้งเเต่ 60 ปีขึ้นไป[4]
ไรขนทำให้เกิดภาวะเปลือกตาอักเสบจากหลายกลไก ได้แก่
การดูแลรักษาความสะอาดเปลือกตาที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดความไม่สะอาดที่เปลือกตา ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการใช้สารสเตียรอยด์ชนิดทา รับประทานหรือฉีด รวมทั้งสารกดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ หรือจากโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเอชไอวี ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเปลือกตาอักเสบจากไรขน
การยืนยันสาเหตุจะต้องซักประวัติร่วมกับการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะของเปลือกตาโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเกณฑ์ที่เป็นไปได้สำหรับการวินิจฉัยเปลือกตาอักเสบจากไรขน มีดังต่อไปนี้
ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษาเปลือกตาอักเสบจากไรขนที่ชัดเจน และยังไม่มียาใดที่สามารถกำจัดไรขนได้ทั้งหมด เเต่มีคำเเนะนำจาก American Academy of Ophthalmology เมื่อปี 2018 สำหรับการรักษาเปลือกตาอักเสบจากไรขน เนื่องจากพบว่า tea tree oil (TTO) ซึ่งมีสารสำคัญ คือ terpinen-4-ol (T4O) มีฤทธิ์ในการฆ่าไรขน ทำให้จำนวนไรขนลดลง และยังสามารถบรรเทาอาการอักเสบบริเวณขอบเปลือกตา เยื่อบุตา กระจกตาด้วย โดยแนะนำให้ใช้ 50% TTO scrub ทาที่เปลือกตาสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ร่วมกับ TTO shampoo scrub หรือ 5% TTO ointment ทาที่เปลือกตาวันละ 2 ครั้งทุกวัน ใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์[4],[6],[7] สำหรับผู้ที่มีผิวเเพ้ง่าย อาจเกิดผิวระคายเคืองต่อ TTO ได้ มีวิธีป้องกัน คือ เจือจาง TTO กับ mineral oil หรือใช้น้ำเกลือ (saline) ล้างหลังจากที่ทา 50% TTO เสร็จ[7] นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการใช้ mercury oxide 1% ointment, pilocarpine gel, sulfur ointment, camphorated oil ทาที่โคนขนตาก่อนนอนเพื่อดักจับไรขนที่ออกจากรูขุมขนที่จะเคลื่อนย้ายไปรูขุมขนอื่น[4] โดยผลิตภัณฑ์ที่มีในประเทศไทย[8],[9] แสดงในตารางที่ 1 และมีรายงานว่าสามารถรักษาโดยรับประทานยา ivermectin ในการกำจัดไรขนสำหรับผู้ที่ใช้วิธีอื่นเเล้วยังไม่ดีขึ้น[7] นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น tetracycline เพื่อฆ่าเชื้อเเบคทีเรียที่อยู่บนตัวไรขนร่วมด้วย[4]
ตารางที่ 1 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับรักษาเปลือกตาอักเสบจากไรขนที่มีในประเทศไทย
ชื่อผลิตภัณฑ์ |
ตัวยาสำคัญ |
วิธีใช้ |
OCuSOFT Lid Scrub Swabstix[9] |
50% TTO, sea buckthorn oil, caprylic acid |
เช็ดขอบเปลือกตาสัปดาห์ละครั้ง (ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ หรือทำในคลินิก เนื่องจากมีความเข้มข้นสูง อาจทำให้เคืองตาได้) |
Oust Demodex Eyelid Cleanser[9] |
TTO |
เช็ดขอบเปลือกตาที่บ้านทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง และเช็ดทำความสะอากออกด้วยน้ำสะอาด |
Cliradex[10] |
T4O |
เช็ดขอบเปลือกตาทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ไม่ต้องล้างออก |
TTO=tea tree oil, T4O=terpinen-4-ol
อาการเปลือกตาอักเสบเรื้อรังที่มีสาเหตุจากไรขนเป็นโรคที่ไม่ได้พบบ่อย แต่เมื่อเป็นแล้วมักรบกวนชีวิตประจำวัน รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ หรืออาจรบกวนการมองเห็นได้ การรักษาให้หายจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาใดที่กำจัดไรขนได้ทั้งหมด ดังนั้นแล้วหากท่านใดที่มีอาการเปลือกตาอักเสบเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อยาทาลดอักเสบภายนอกเฉพาะที่ อาการเปลือกตาอักเสบนั้นอาจเกิดจากตัวไรขน จึงแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อประเมินการรักษาต่อไป