โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือ Human Immunodeficiency Virus (HIV) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเนื่องจากไวรัสจะเพิ่มจำนวนแล้วทำลายเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากไม่ทำการรักษาจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาสและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
โดยการรักษาด้วยยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทยปี 2564/2565 แนะนำให้ใช้ยาแบบรวมเม็ดซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ 3 ชนิด คือ 1) Tenofovir disoproxil fumarate 2) Lamivudine และ 3) Dolutegravir หรือเรียกสั้น ๆ ว่า TLD เป็นยาสูตรแรกในการรักษา เนื่องจากควบคุมไวรัสได้ดี มีผลข้างเคียงน้อย และรับประทานเพียงวันละครั้ง อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยใช้ยาสูตรนี้ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงจนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อได้
Tenofovir และ lamivudine ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัส ส่วน dolutegravir ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการรวมรหัสพันธุกรรมของไวรัสเข้ากับรหัสพันธุกรรมของเซลล์เม็ดเลือดขาวในมนุษย์ ทำให้เมื่อใช้ยาทั้ง 3 ชนิดร่วมกันจึงยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ส่งผลให้ไวรัสไม่เพิ่มจำนวนมากเกินไป จนไปทำลายเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดโอกาสติดเชื้อฉวยโอกาส และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ[5] โดย TLD เป็นยาแบบรวมเม็ด ประกอบด้วยตัวยา 3 ชนิดในเม็ดเดียว ผู้ป่วยจะรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ทุกวันสม่ำเสมอ
หากผู้ป่วยลืมหรือรับประทานยาไม่ตรงเวลาจะทำให้ระดับยาในเลือดไม่คงที่ ประสิทธิภาพในการรักษาของยาลดลง ส่งผลให้ปริมาณไวรัสในร่างกายเพิ่มขึ้น จนอาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงและติดเชื้อฉวยโอกาสได้ นอกจากนี้การรักษาอาจไม่ได้ผล เนื่องจากเชื้อไวรัสมีโอกาสดื้อยาได้ เมื่อเชื้อเกิดการดื้อยาขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนสูตรยาในการรักษา ดังนั้นการรับประทานยาให้ถูกต้อง สม่ำเสมอและตรงเวลาทุกวันจะหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อไวรัสดื้อยาและการรักษาล้มเหลวได้
นอกจากการรับประทานยาอย่างเหมาะสมแล้ว มีข้อควรคำนึงในการรับประทานยาดังต่อไปนี้
TLD เป็นยาที่พบผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น นอนไม่หลับ เหนื่อย ปวดหัว ท้องเสีย ผื่น อาการปวด และอาการซึมเศร้าในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคอยู่เดิม เป็นต้น อาการข้างเคียงที่รุนแรงที่พบได้ เช่น ผื่นแพ้ยา การทำงานของไตลดลง ภาวะเลือดเป็นกรด และโรคไวรัสตับอักเสบในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
TLD เป็นยาต้านไวรัสที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี แต่หากผู้ป่วยใช้ยาไม่เหมาะสมอาจส่งผลให้การรักษาล้มเหลว การเกิดเชื้อดื้อยา และการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนั้นการรับประทานยาสม่ำเสมอ ตรงเวลา และหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกับยาบางชนิดตามข้อควรคำนึงที่กล่าวไว้ข้างต้น จะทำให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อเกิดผลข้างเคียงขึ้นยังช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาต้านไวรัสได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย
1. Fauci AS, Folkers GK, Lane H. Human immunodeficiency virus disease: AIDS and related disorders. In: Loscalzo J, Fauci A, Kasper D, Hauser S, Longo D, Jameson J. eds. Harrison's Principles of Internal Medicine, 21e [Internet]. McGraw Hill; 2022. [cited 2022 Aug 12]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=3095§ioni
d=265434013.
2. สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย. แนวทางการตรวจวินิจฉัย รักษา และป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2564/2565 [อินเทอร์เน็ต]; 2564 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงเมื่อ: http://www.thaiaidssociety.org/images/PDF/hiv-aids-guideline-2564_2565.pdf.
3. Dolutegravir, lamivudine and tenofovir disoproxil fumarate tablets [package insert]. Berkeley Heights (NJ): Laurus Generics Inc.; 2021 [cited 2022 Aug 7]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/pepfar/210787PI.pdf.
4. Tsibris AM, Hirsch MS. Antiretroviral therapy for human immunodeficiency virus infection. In: Bennett JE, Dolin R, Blaser MJ, editors. Mandell, Douglas, and bennett’s principles and practice of infectious diseases. 9th ed. Elsevier; 2019.p.1739-60.
5. Graziani AL, Hirsch MS, Mitty J. Patient education: tips for taking HIV medications by mouth (beyond the basics) [Internet]. UpToDate; 2022 [cited 2022 Aug 13]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/tips-for-taking-hiv-medications-by-mouth-beyond-the-basics.
6. Cottrell ML, Hadzic T, Kashuba AD. Clinical pharmacokinetic, pharmacodynamic and drug-interaction profile of the integrase inhibitor dolutegravir. Clin Pharmacokinet. 2013; 52:981-94.
7. Kolakowska A, Maresca AF, Collins IJ, Cailhol J. Update on adverse effects of HIV integrase inhibitors. Curr Treat Options Infect Dis. 2019; 11:372-87.
8. Wassner C, Bradley N, Lee Y. A review and clinical understanding of tenofovir: tenofovir disoproxil fumarate versus tenofovir alafenamide. J Int Assoc Provid AIDS Care. 2020; 19:2325958220919231.doi:10.1177/2325958220919231.