หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาเม็ดคุมกำเนิดกับการรักษาสิว

โดย นศภ.ปวีณา มณีอินทร์ ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.มัลลิกา ชมนาวัง เผยแพร่ตั้งแต่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2565 -- 37,421 views
 

ยาเม็ดคุมกำเนิดนั้นนอกจากจะใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อีกด้วย เช่น ปรับระดับฮอร์โมน บรรเทาอาการปวดประจำเดือน รวมทั้งรักษาสิว บทความนี้จะกล่าวถึงข้อควรรู้ในการใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวซึ่งเป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้บ่อยในวัยเจริญพันธุ์

ฮอร์โมนกับการเกิดสิว[1,2]

สิวเป็นภาวะที่เกิดการอุดตันของไขมันที่รูขุมขน ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและการอักเสบได้ โดยการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต่อมไขมันมีการผลิตไขมันมากขึ้น การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อปรับระดับฮอร์โมนจึงมีประโยชน์ช่วยลดการเกิดสิวได้ ซึ่งฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการทำงานของต่อมไขมัน คือ ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (testosterone) ซึ่งแม้จะจัดอยู่ในกลุ่มฮอร์โมนเพศชาย แต่ในเพศหญิงก็มีการสร้างฮอร์โมนนี้เช่นกันในปริมาณที่ต่ำกว่า เทสโทสเทอโรนมีผลกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันเพิ่มขึ้นนำไปสู่การอุดตันของรูขุมขนและการสะสมของแบคทีเรียตามมา นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้ผิวหนังมีการสร้างเคอราตินมากผิดปกติ (hyperkeratinization) ทำให้เกิดการอุดตันเพิ่มขึ้นส่งเสริมให้เกิดสิวมากขึ้น

การออกฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดในการรักษาสิว[3]

ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้รักษาสิวจะเป็นชนิดฮอร์โมนรวมซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิด ethinyl estradiol และโพรเจสตินซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (progesterone) และมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย (antiandrogenic effect) ทั้งนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลเพิ่มปริมาณโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ส่งผลให้เหลือฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนอิสระที่มีผลให้เกิดสิวน้อยลง รวมทั้งยังมีผลลดการสังเคราะห์ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่รังไข่อีกด้วย ส่วนโพรเจสตินออกฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนจับกับตัวรับ (receptor) รวมทั้งยับยั้งเอนไซม์ 5-reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเป็นไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน (dihydrotestosterone, DHT) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายอีกชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์กระตุ้นการผลิตไขมันจากต่อมไขมันที่สูงกว่าฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน

ตัวยา (ฮอร์โมน) ในยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้รักษาสิว

ปัจจุบันองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (The United States Food and Drug Administration, : U.S. FDA) อนุมัติให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมในการรักษาสิวทั้งหมด 4 สูตร[1] ได้แก่

- Ethinyl estradiol/norgestimate

- Ethinyl estradiol/norethindrone acetate/ferrous fumarate

- Ethinyl estradiol/drospirenone

- Ethinyl estradiol/drospirenone/levomefolate

โดยในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมฮอร์โมนดังกล่าวหลายชนิดดังแสดงตัวอย่างในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ตัวอย่างยาเม็ดคุมกำเนิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาสิวซึ่งมีจำหน่ายในประเทศไทย[4,5]

ฮอร์โมน

ชื่อการค้า

ความแรง

จำนวนเม็ด

Ethinyl estradiol/

norgestimate

Cilest®

Ethinyl estradiol 35 mcg/norgestimate 250 mcg

21

Tricilest®

Ethinyl estradiol 35 mcg/norgestimate 250 mcg

28

Ethinyl estradiol/

drospirenone

Yaz®

Ethinyl estradiol 20 mcg/drospirenone 3 mg

28

Yasmin®

Ethinyl estradiol 30 mcg/drospirenone 3 mg

21

Synfonia®

Ethinyl estradiol 20 mcg/drospirenone 3 mg

28

Melodia®

Ethinyl estradiol 30 mcg/drospirenone 3 mg

21

Justima®

Ethinyl estradiol 30 mcg/drospirenone 3 mg

21

Gveza®

Ethinyl estradiol 30 mcg/drospirenone 3 mg

21

Herz®

Ethinyl estradiol 20 mcg/drospirenone 3 mg

28

Ethinyl estradiol/

drospirenone/ levomefolate

Yaz plus®

Ethinyl estradiol 20 mcg/drospirenone 3 mg/ levomefolate 451 mcg

28

Yasmin plus®

Ethinyl estradiol 30 mcg/drospirenone 3 mg/ levomefolate 451 mcg

28

ในปัจจุบันไม่มียาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของ ethinyl estradiol/norethindrone acetate/ferrous fumarate จำหน่ายในประเทศไทย

วิธีใช้[6]

ยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวมีวิธีใช้เหมือนกับการรับประทานเพื่อคุมกำเนิด คือ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง โดยเริ่มรับประทานยาเม็ดที่ 1 ในวันแรกที่มีประจำเดือน หากลืมรับประทานในวันแรกสามารถรับประทานได้ไม่เกินวันที่ 5 ของการมีประจำเดือน และรับประทานยาต่อไปตามลูกศรจนหมดแผง กรณีที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด เมื่อยาหมดแผงแล้วให้เริ่มรับประทานแผงใหม่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องรอวันที่มีประจำเดือนเหมือนแผงแรก ทั้งนี้ประจำเดือนอาจจะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดที่ 22-28 ซึ่งเป็นเม็ดแป้งไม่มีฮอร์โมน กรณีรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด ให้เว้นการรับประทานยา 7 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่อาจมีประจำเดือนมาแล้วค่อยเริ่มรับประทานแผงใหม่ในวันที่ 8 โดยไม่ต้องสนใจว่าจะมีประจำเดือนอยู่หรือไม่

ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดรักษาสิว[1]

ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้รักษาสิวไม่ควรใช้ในกลุ่มคนต่อไปนี้

- สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร

- อายุมากกว่า 35 ปีและสูบบุหรี่มากกว่า 15 มวนต่อวัน

- มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

- เป็นโรคความดันโลหิตสูง (systolic blood pressure ≥160 mmHg, diastolic blood pressure ≥100 mmHg)

- เป็นโรคเบาหวานร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นเบาหวานมากกว่า 20 ปี

- เป็นโรคไมเกรนที่มีอาการนำ เช่น เห็นแสงออร่า

- เป็นโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ เช่น มะเร็งเต้านม

- การทำงานของโรคตับบกพร่องอย่างรุนแรง

บทสรุป

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีประโยชน์ช่วยลดการเกิดสิวได้จากฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาสิวระดับปานกลางถึงรุนแรงในเพศหญิง โดยจะได้ผลดียิ่งขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยารักษาสิวประเภทอื่น ๆ อย่างเหมาะสม[2] อย่างไรก็ตามการใช้ยาคุมกำเนิดอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เจ็บคัดเต้านม เลือดออกกะปริบกะปรอย รวมถึงข้อห้ามใช้อื่น ๆ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเริ่มต้นใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. Zaenglein AL, Pathy AL, Schlosser BJ, Alikhan A, Baldwin HE, Berson DS, et al. Guidelines of care for the management of acne vulgaris. J Am Acad Dermatol; 2016; 74(5):945-73.e33.
  2. นภดล นพคุณ, เพ็ญวดี ทิมพัฒนพงศ์, วัณณศรี สินธุภัค, เพ็ญพรรณ วัฒนไกร, รัศนี สุทธิไพศาล, นลินี สุทธิไพศาล, และคณะ. แนวทางการรักษาโรคสิว. สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย; 2554.
  3. Tan J. Efficacy and safety of combined ethinyl estradiol/drospirenone oral contraceptives in the treatment of acne. Int J Womens Health; 2009:213.
  4. กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา. ข้อมูลยา/ผลิตภัณฑ์สมุนไพร [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 1 ก.ค. 2565]. เข้าถึง ได้จาก: http://ndi.fda.moph.go.th/drug_info.
  5. สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย. Thai medicines terminology browser [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 1 ก.ค. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://tmt.this.or.th/TMTBrowser.dll/jXoZRq-Jp0sE8lqMiZDWmG/$/.
  6. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม [อินเทอร์เน็ต]. 2561. [เข้าถึงเมื่อ 24 มิ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/417/ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม/.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาเม็ดคุมกำเนิด สิว ยาคุมรักษาสิว
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้