หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Arbutin ช่วยลดรอยสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ ได้อย่างไร?

โดย นศภ.ศุภชัย แคนยุกต์, นศภ.อธิชา อุทานวรพจน์, ภายใต้คำแนะนำของอาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย เผยแพร่ตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 -- 37,292 views
 

สาว ๆ ที่มักมีฝ้า กระ จุดด่างดำ หน้าหมองคล้ำ รักษาสิวหายแล้วแต่รอยดำยังอยู่เป็นปัญหากวนใจคงเคยรู้จักผลิตภัณฑ์ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้มาบ้าง และสารที่เริ่มเป็นกระแสในวงการสกินแคร์ปัจจุบันนี้ คือ arbutin (อาร์-บู-ติน) ซึ่งเป็นส่วนผสมในครีมไวท์เทนนิ่งต่าง ๆ มากมาย บทความนี้จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสารชนิดนี้ว่าอาจมีส่วนช่วยในการทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส ไร้ฝ้า กระ และจุดด่างดำได้อย่างไร

Arbutin คืออะไร มีกี่ประเภท

Arbutin เป็นสารธรรมชาติสกัดที่ได้จากต้นแบร์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ ข้าวสาลี และแพร1 จัดเป็นอนุพันธ์ของสาร hydroquinone (ไฮ-โดร-ควิ-โนน) ซึ่งเป็นสารที่เคยใช้เพื่อรักษาสิว ฝ้า มาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ arbutin เป็นหนึ่งในสารที่มักใช้ช่วยลดจุดด่างดำที่เกิดขึ้นหลังจากการอักเสบของผิวหนัง โดยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ hydroquinone แต่มีความปลอดภัยมากกว่าเนื่องจากทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ผิวหนังน้อยกว่า โดยเฉพาะเซลล์ที่เรียกว่า melanocyte (เม-ลา-โน-ไซต์) ซึ่งเป็นตัวผลิตเม็ดสีเรียกว่า “melanin (เมลานิน)” ที่ทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำหากมีปริมาณมาก2 ปัจจุบันมีการนำ arbutin ไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางอย่างแพร่หลาย สำหรับ arbutin ที่สกัดได้จากธรรมชาติแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ชนิดแอลฟ่า (alpha-arbutin) และ ชนิดเบต้า (beta-arbutin) ซึ่งการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในประเทศญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้ alpha-arbutin (2%) มีความพึงพอใจในประสิทธิภาพมากว่าผู้ใช้ beta-arbutin ที่ความเข้มข้นเดียวกัน3 อีกการศึกษาระบุว่า alpha-arbutin มีความสามารถในการยับยั้งเม็ดสีได้มากกว่า beta-arbutin ประมาณ 10 เท่า4

Arbutin ช่วยลดรอยสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ ได้อย่างไร

โดยปกติแล้วการเกิดฝ้า กระ จุดด่างดำ หรือรอยเเผลสีดำหลังจากการเป็นสิวเป็นผลมาจากผิวมีการสร้างเม็ดสีชื่อว่า melanin (เมลานิน) มากขึ้น5 จากการศึกษาพบว่า arbutin มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase (ไท-โร-ซิ-เนส) ดังรูปที่ 1 เอนไซม์นี้มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการสร้างเม็ดสี melanin แล้วทำให้สีผิวคล้ำขึ้น จากผลการออกฤทธิ์ดังกล่าวทำให้ arbutin มีส่วนช่วยลดการเกิดฝ้า กระ จุดด่างดำ ทำให้สีผิวสม่ำเสมอได้นั่นเอง6

รูปที่ 1 กลไกการออกฤทธิ์ของ arbutin ที่อาจช่วยลดการสร้างเม็ดสีผิว

ในปัจจุบัน คณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (Scientific Committee on Consumer Safety) ของสหภาพยุโรป ได้กำหนดปริมาณการใช้สารกลุ่ม arbutin ในเครื่องสำอางไว้ดังนี้7

  • Alpha-arbutin ไม่เกิน 2% สำหรับครีมทาหน้า เเละไม่เกิน 0.5% สำหรับโลชั่นทาตัว
  • Beta-arbutin ไม่เกิน 7% สำหรับครีมทาหน้า

ผลข้างเคียงจากการใช้ arbutin มีอะไรบ้าง

เนื่องจากสารกลุ่มนี้มักใช้ในรูปแบบเครื่องสำอางเป็นหลัก ทำให้มีโอกาสที่ arbutin จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยมาก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสารชนิดนี้ค่อนข้างปลอดภัย แต่บางคนอาจเกิดผื่นแดงและระคายเคืองผิวหนัง ซึ่งเกิดได้จากปฏิกิริยาการแพ้หรือเมื่อใช้ในผู้ที่มีผิวบอบบาง (เช่น ผู้ที่เป็นสิว หรือผิวแพ้ง่าย)8 นอกจากนี้เชื้อจุลชีพที่พบปกติตามผิวหนังสามารถเปลี่ยน arbutin เป็น hydroquinone ได้บางส่วน9 ซึ่ง hydroquinone ที่เกิดขึ้นอาจทำปฏิกิริยากับแสงแดดทำให้สีผิวคล้ำกว่าเดิม หรือผิวหนังอาจไวต่อแสงแดดทำให้ผิวไหม้ได้10 ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งมีส่วนผสมของ arbutin จึงควรทาครีมกันแดดร่วมด้วย และอาจต้องระมัดระวังอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ซึ่งยังไม่ทราบข้อมูลชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

ข้อสรุป

Arbutin เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง มีประสิทธิภาพในการเป็นไวท์เทนนิ่ง ช่วยลดเม็ดสีในผู้ที่มีปัญหาเรื่องฝ้า กระ จุดด่างดำบนใบหน้า ด้วยกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้สร้างเม็ดสีโดยไม่มีผลกับตัวเซลล์สร้างเม็ดสี จึงมีความปลอดภัยมากกว่าการใช้ hydroquinone อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงระยะยาวจากการใช้ arbutin ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์จาก arbutin มีจำหน่ายมากมายในท้องตลาด ผู้ใช้ควรพิจารณาปัจจัยหลายด้านก่อนเลือกซื้อมาใช้ โดยเฉพาะด้านคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งเภสัชกรร้านยาเป็นหนึ่งในผู้ที่จะสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพเหล่านี้

เอกสารอ้างอิง

1. Barel A, Paye M, Maibach H. Handbook of Cosmetic Science and Technology, Third Edition.

2. Ebanks JP, Wickett RR, Boissy RE. Mechanisms regulating skin pigmentation: the rise and fall of complexion coloration. Int J Mol Sci. 2009; 10(9):4066-87.

3. ALPHA ARBUTIN-the more effective, faster and safer approach to skin lightening. [Internet]. Japan: Pentapharm; 2021 [cited 10 May 2021]. Available from: https://124a72cf7c220ed91735-41ee45c3cc207cfe2a079cc3db5c5e1a.ssl.cf1.rackcdn.com/pdf/alpha_arbutin.pdf.

4. Funayama M, Arakawa H, Yamamoto R, Nishino T, Shin T, Murao S. Effects of alpha- and beta-arbutin on activity of tyrosinases from mushroom and mouse melanoma. Biosci Biotechnol Biochem. 1995; 59(1):143-4.

5. Parvez S, Kang M, Chung HS, Cho C, Hong MC, Shin MK, et al. Survey and mechanism of skin depigmenting and lightening agents. Phyto Ther Res. 2006; 20(11):921-34.5.

6. Mechanism of its depigmenting action in human melanocyte culture. J Pharmacol Exp Ther. 1996;276(2):765–9.

7. Scientific Committee on Consumer Safety (SCCS) - Public Health - European Commission [Internet]. Public Health - European Commission. 2021 [cited 13 May 2021]. Available from: https://ec.europa.eu/health/scientific_committees/consumer_safety_en

8. Arbutin [Internet]. Pubchem.ncbi.nlm.nih.gov. 2021 [cited 13 May 2021]. Available from: https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Arbutin#section=General-Manufacturing-Information

9. Bang S-H, Han S-J, Kim D-H. Hydrolysis of arbutin to hydroquinone by human skin bacteria and its effect on antioxidant activity. J Cosmet Dermatol. 2008; 7(3):189–9.

10. Hydroquinone topical Uses, Side Effects & Warnings - Drugs.com [Internet]. Drugs.com. 2021 [cited 13 May 2021]. Available from: https://www.drugs.com/mtm/hydroquinone-topical.html.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
arbutin สิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้