หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทางเลือกของการคุมกำเนิดที่นอกเหนือจากยารับประทาน

โดย นศภ.ณพัชร แก้วนพรัตน์ และ นศภ.ณภคดล พัฒนเสรี ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภก.จิรพงศ์ สุขสิริวรพงศ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2564 -- 4,995 views
 

นอกจากการใช้ยาเม็ดฮอร์โมนคุมกำเนิด (oral contraceptive pills) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมานาน ยังมียาคุมกําเนิดรูปแบบอื่นที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดเช่นกัน บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อควรรู้สำหรับการใช้ยาคุมกำเนิดทางเลือกนอกจากการรับประทาน ได้แก่ ชนิดแผ่นแปะ (patch) ชนิดฝัง (implant) และชนิดฉีด (injection) รวมทั้งห่วงคุมกําเนิด (intrauterine device; IUD)

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ (patch)

เป็นยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมระหว่างเอสโตรเจน (estrogens) กับโพรเจสติน (progestins) ที่ไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน เพียงแปะแผ่นยาคุมกำเนิด 1 แผ่นต่อสัปดาห์ แผ่นแปะจะปลดปล่อยฮอร์โมนออกมาในอัตราคงที่เป็นระยะเวลา 7 วัน1

แผ่นแปะคุมกำเนิดที่มีใช้ในประเทศไทย ได้แก่ Evra® มีตัวยาสำคัญคือ norelgestromin 6 มิลลิกรัม และ ethinylestradiol 0.6 มิลลิกรัม2 มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า 3 ชั้น ชั้นนอกเป็น polyester ที่กันน้ำได้ ชั้นกลางเป็นฮอร์โมนและกาว และชั้นในเป็น polyethylene ซึ่งจะต้องลอกออกก่อนที่จะติดกับผิวหนัง ใช้แปะสัปดาห์ละ 1 แผ่นติดต่อกัน 3 สัปดาห์ (รวมใช้ 3 แผ่น) แล้วเว้น 1 สัปดาห์ รอให้ประจำเดือนมาจึงค่อยเริ่มแปะแผ่นใหม่1 เริ่มใช้ยาแผ่นแรกภายใน 5 วันนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนโดยไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วม (หากเริ่มแปะแผ่นแรกหลังจาก 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ควรเว้นการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน)3 ตำแหน่งที่แนะนำให้แปะแผ่นยาคุมกำเนิด ได้แก่ ต้นแขนด้านนอก สะโพก หน้าท้อง ลำตัวส่วนบนยกเว้นเต้านม และทำการเปลี่ยนตำแหน่งทุกครั้งที่เปลี่ยนแผ่นยา นอกจากนี้ไม่ควรใช้เครื่องสำอางหรือครีมทาผิวบริเวณตำแหน่งที่จะแปะแผ่นยาเพราะอาจทำให้แผ่นยาหลุดลอกและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้4

ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (implant)

เป็นยาคุมกําเนิดที่ประกอบไปด้วยฮอร์โมนโพรเจสตินที่ออกฤทธิ์นาน มีประโยชน์ในกลุ่มคนที่ต้องหลีกเลี่ยงหรือไม่สามารถใช้ฮอร์โมนกลุ่มเอสโตรเจนได้ เช่น สตรีให้นมบุตร สตรีที่มีโรคหลอดเลือดอุดตัน เป็นต้น ยาคุมกําเนิดชนิดฝังจะมีตัวยาบรรจุอยู่ในหลอดยา เมื่อฝังหลอดยาเข้าใต้ผิวหนังจะปลดปล่อยตัวยาอย่างช้า ๆ ในอัตราคงที่ ทำให้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้มีระยะเวลาออกฤทธิ์นานและเหมาะสําหรับผู้ที่ต้องการคุมกําเนิดระยะยาว เมื่อถอดยาคุมกําเนิดชนิดฝังออก จะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะเจริญพันธุ์ได้ทันที1

โดยทั่วไปแนะนำให้เริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังภายใน 7 วันแรกของการมีประจำเดือน และไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย หากเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดหลังจาก 7 วันแรกของการมีประจำเดือน ควรเว้นการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน3 เมื่อถึงกำหนดที่ต้องถอดยาฝังคุมกำเนิดออก สามารถฝังยาหลอดใหม่ต่อเนื่องได้ทันที ระยะเวลาในการออกฤทธิ์คุมกำเนิดขึ้นอยู่กับชนิดและยี่ห้อของยา1 โดยยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่มีใช้ในไทย ได้แก่ Jadelle® ซึ่งเป็นยาคุมกำเนิดชนิดฝังแบบ 2 แท่ง มีตัวยาสำคัญคือ levonorgestrel 75 มิลลิกรัมต่อแท่ง ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 5 ปี และ Implanon NXT® ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดฝังแบบ 1 แท่ง มีตัวยาสำคัญคือ etonogestrel 68 มิลลิกรัม ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3 ปี2,5

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด (injection)

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดมีทั้งที่เป็นแบบฮอร์โมนรวม (เอสโตรเจนกับโพรเจสติน) ซึ่งคุมกำเนิดได้นาน 1 เดือน และแบบฮอร์โมนเดี่ยวที่มีเฉพาะฮอร์โมนกลุ่มโพรเจสติน ซึ่งคุมกำเนิดได้นาน 2-3 เดือน6

ข้อแนะนำในการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด คือ ควรฉีดเข็มแรกภายใน 7 วันแรกของการมีประจำเดือน โดยไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วม หากเริ่มฉีดยาคุมกำเนิดหลังจาก 7 วันแรกของการมีประจำเดือน ควรเว้นการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน3 กรณีของยาฉีดชนิดฮอร์โมนรวม เช่น Cyclofem® และ Depo monat® จะต้องฉีดซ้ำทุก 1 เดือน หากไม่สะดวกฉีดในวันเดิมสามารถฉีดก่อนหรือหลังกำหนดได้ 7 วัน กรณียาฉีดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีส่วนประกอบของ medroxyprogesterone acetate (DMPA) เช่น Depo-pro® และ Medrox depo® ต้องฉีดซ้ำทุก 3 เดือน หากไม่สะดวกฉีดในวันเดิมสามารถฉีดก่อนกำหนดได้ 2 สัปดาห์หรือหลังกำหนดได้ 4 สัปดาห์ ส่วนชนิดที่มีส่วนประกอบของ norethisterone enanthate (NET-EN) เช่น Noristin® ต้องฉีดซ้ำทุก 2 เดือน กรณีที่เลยระยะเวลาที่กำหนด ควรเว้นการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยอีก 7 วัน2,7

ห่วงคุมกำเนิด (intrauterine devices; IUD)

ห่วงคุมกําเนิดหรือห่วงอนามัยเป็นการคุมกําเนิดชั่วคราวในระยะยาว ปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ห่วงคุมกําเนิดชนิดหุ้มทองแดงและห่วงคุมกําเนิดชนิดปลดปล่อยโพรเจสติน8

สําหรับการใช้คุมกําเนิด ให้เริ่มใช้ห่วงคุมกําเนิดภายใน 7 วันแรกของการมีประจําเดือนและไม่จําเป็นต้องใช้การคุมกําเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย หากเริ่มใช้ห่วงคุมกําเนิดหลังจาก 7 วันแรกของการมีประจําเดือน ควรเว้นการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้การคุมกําเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน3 ในช่วงแรกที่เริ่มใช้ห่วงคุมกําเนิดอาจมีอาการปวดท้องน้อยและเลือดออกกระปริบกระปรอยได้ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันหลังใส่ห่วง และตรวจเช็คการใส่ห่วงคุมกําเนิดในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังใส่ห่วง จากนั้นจึงตรวจเช็คปีละครั้ง ควรตรวจสายห่วงเองที่บ้านทุกเดือนภายหลังจากประจําเดือนหมดโดยใช้มือข้างที่ถนัด ล้างให้สะอาดแล้วคลําหาสายห่วงในช่องคลอด ควรพบแพทย์และงดการมีเพศสัมพันธ์หากสายห่วงหาย สั้น ยาว หรือเลื่อนจากตําแหน่งเดิม โดยห่วงคุมกําเนิดแต่ละชนิดมีระยะเวลาการใช้งานที่แตกต่างกัน8 ซึ่งห่วงคุมกําเนิดชนิดที่หลั่งสารโพรเจสตินที่มีใช้ในไทย ได้แก่ Skyla® ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ levonorgestrel 13.5 มิลลิกรัม มีอายุการใช้งาน 3 ปี9 และ Mirena® ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ levonorgestrel 52 มิลลิกรัม มีอายุการใช้งาน 5 ปี10

ความแตกต่างที่สำคัญของการคุมกำเนิดแต่ละประเภทเมื่อเปรียบเทียบกับยาเม็ดคุมกำเนิด

จากการศึกษาประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดจากร้อยละของการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจภายในปีแรกของการคุมกำเนิด พบว่ายาคุมกำเนิดชนิดฝังมีประสิทธิภาพสูงสุด คือร้อยละ 0.05 รองลงมาคือห่วงคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด ยาเม็ดคุมกำเนิด และยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะร้อยละ 0.2, 4.0, 8.0 และ 9.0 ตามลำดับ11 ทั้งนี้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังเป็นรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้สามารถเบิกค่ายาได้หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ยาคุมกำเนิดชนิดฝังและยาคุมกำเนิดชนิดฉีดมีผลลดปริมาณของประจำเดือนหรือทำให้ไม่มีประจำเดือนหลังจากใช้ไประยะหนึ่ง ทำให้สามารถแก้ปัญหาการปวดหรือการเสียเลือดจากประจำเดือนได้ ในด้านความถี่ของการใช้ยาคุมกำเนิดพบว่าห่วงคุมกำเนิดและยาคุมกำเนิดชนิดฝังมีอายุใช้งานนานที่สุด คือ 3-5 ปี รองลงมาคือยาคุมกำเนิดชนิดฉีดมีอายุใช้งาน 2-3 เดือน ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะมีอายุใช้งาน 1 สัปดาห์ และยาเม็ดคุมกำเนิดต้องรับประทานต่อเนื่องทุกวัน ข้อเสียของยาคุมกำเนิดแต่ละรูปแบบที่สำคัญ ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิดต้องรับประทานต่อเนื่องทุกวันเพื่อทำให้มีประสิทธิภาพสำหรับคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะมีราคาสูงและต้องระวังการหลุดลอกของแผ่นยา ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ส่วนห่วงคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง และยาคุมกำเนิดชนิดฉีดไม่สามารถเริ่มหรือหยุดใช้ยาได้ด้วยตัวเอง และอาจมีอาการปวด อักเสบ บวมบริเวณที่ทำการใส่ ฝังหรือฉีดในช่วงแรกของการใช้ยา นอกจากนี้การใช้ห่วงคุมกำเนิดอาจทำให้มีตกขาวเพิ่มขึ้นและมีเลือดออกกะปริดกะปรอยในช่วงแรกของการใช้ยา และการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยรายละเอียดทั้งหมดอาจสรุปได้ในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของยาคุมกำเนิดแต่ละรูปแบบ[1,2,7,8,10,12]

รูปแบบ

ข้อดี

ข้อเสีย

เม็ด

- เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ

- ใช้ง่าย เป็นที่นิยม

- ประจำเดือนมาตรงตามปกติ ไม่กระทบต่อรอบเดือน

- ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อให้มีประสิทธิภาพสำหรับคุมกำเนิด

แผ่นแปะ

- ใช้สัปดาห์ละ 1 แผ่น สะดวกในการใช้มากกว่ายาเม็ดคุมกำเนิด

- ประจำเดือนมาตรงตามปกติ ไม่กระทบต่อรอบเดือน

- ราคาค่อนข้างสูง

- อาจมีการหลุดของแผ่นยา

ฝัง

- เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ

- เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดระยะยาว เนื่องจากคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี

- ปริมาณของประจำเดือนลดลงหรือไม่มีประจำเดือนหลังจากใช้ แก้ปัญหาการปวดหรือการเสียเลือดจากประจำเดือน

- ไม่สามารถเริ่มหรือหยุดใช้ยาได้ด้วยตัวเอง

- มีอาการปวดบริเวณที่ฝังยาในช่วงแรกของการใช้ยา

ฉีด

- คุมกำเนิดได้นาน 2-3 เดือน สะดวกในการใช้มากกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดและยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ

- ปริมาณของประจำเดือนลดลงหรือไม่มีประจำเดือนหลังจากใช้ไประยะหนึ่ง แก้ปัญหาการปวดหรือการเสียเลือดจากประจำเดือน

- ไม่สามารถเริ่มหรือหยุดใช้ยาได้ด้วยตัวเอง

- น้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้น

- มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดยาในช่วงแรกของการใช้ยา

ห่วง

- เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดระยะยาว เนื่องจากคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี

- ประจำเดือนมาตรงตามปกติ ไม่กระทบต่อรอบเดือนและการหลั่งน้ำนม สามารถใช้ในหญิงให้นมบุตรได้

- ไม่สามารถเริ่มหรือหยุดใช้ยาได้ด้วยตัวเอง

- อาจมีตกขาวเพิ่มขึ้น

- เลือดออกกะปริดกะปรอยหรือปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยในช่วงแรกของการใช้ยา

ข้อควรระวังอื่น ๆ

เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิด ห้ามใช้การคุมกำเนิดที่มีตัวยาฮอร์โมนในประชากรบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมหรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยที่มีประวัติลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น13

เอกสารอ้างอิง

  1. กองอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการให้บริการวางแผนครอบครัว สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข. 2551. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER17/DRAWER002/GENERAL/DATA0000/00000168.PDF
  2. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2563. (2563, 29 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 137.
  3. Adanu R, Amaral E, Amy JJ, Cameron S, Chipato T, Chou R, et al. Selected practice recommendations for contraceptive use. 3rd ed. Geneva: WHO Document Production Services;2016.
  4. Ortho Evra (norelgestromin/ethinyl estradiol transdermal system). Product labeling. Raritan, NJ: Ortho-McNeil Pharmaceutical, Inc.; Revised July 2009.
  5. นาวิน ศักดาเดช และทวิวัน พันธศรี. ยาฝังคุมกำเนิด: Implant contraception. ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=1588:implant-contraception&catid=45&Itemid=561
  6. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/528/ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด/
  7. CDC.gov [internet]. US Selected Practice Recommendations (US SPR) for Contraceptive Use [updated 2021 May 20; cited 2021 May 20]. Available from: https://www.cdc.gov/reproductivehealth/contraception/mmwr/spr/injectables.html.
  8. ธรรมพจน์ จีรากรภาสวัฒน์ และทวิวัน พันธศรี. Intrauterine devices: ห่วงอนามัย. ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=1135:intrauterine-devices&catid=45&Itemid=561
  9. SKYLA (levonorgestrel-releasing intrauterine system). Package leaflet: Information for the user [Internet]. Hpra.ie. [cited 2021 May 20]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/203159s000lbl.pdf
  10. Mirena (levonorgestrel-releasing intrauterine system). Package leaflet: Information for the user [Internet]. Hpra.ie. [cited 2021 May 20]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/021225s027lbl.pdf
  11. Family Planning National Training Center. Birth Control Methods Options Chart [Internet]. 2021 [Cited 2021 May 21]. Available at: https://rhntc.org/sites/default/files/resources/Birth%20Control%20Methods%20Chart%202021_8.5x11_011521%20508.pdf
  12. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/547ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง/
  13. ภาณุพันธุ์ หอมกรุ่น และสุปรียา วงศ์ตระหง่าน. ยาเม็ดคุมกำเนิด Oral contraceptive. ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=1348:oral-contraception&catid=45&Itemid=561

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาคุมกำเนิด แปะ ฝัง ฉีด ห่วง
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้