หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จริงหรือไม่ การใช้ยาสูดสเตียรอยด์ในโรคหืดทำให้ตัวเตี้ย ???

โดย นศภ. พรชนก มนแก้ว เผยแพร่ตั้งแต่ 25 กันยายน พ.ศ.2557 -- 12,171 views
 

โรคหืด (asthma)

โรคหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม (chronic inflammatory) ทำให้หลอดลมของผู้ป่วยตีบแคบและไวต่อตัวกระตุ้นต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ได้ง่ายขึ้น (bronchial hyperresponsiveness) ผู้ป่วยมักมีอาการหอบเหนื่อย ไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด (wheeze) เกิดขึ้นเมื่อได้รับตัวกระตุ้น ซึ่งอาการจะหายไปได้เองหรือหายไปเมื่อได้รับยาขยายหลอดลมและอาการดังกล่าวอาจจะกลับเป็นซ้ำได้เมื่อเกิดการกระตุ้นครั้งใหม่ ดังนั้นการรักษาจึงมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการของโรคหืดได้ ทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ ป้องกันไม่ให้อาการหอบหืดกำเริบ และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหืดลง1

ยาสูดสเตียรอยด์ (inhaled steroids) ในโรคหืด

การให้ความร่วมมือในการรักษาโรคหืดของผู้ป่วย ญาติ และครอบครัว ร่วมกับการค้นหาและหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นต่างๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการหอบหืดขึ้นมา การใช้ยาก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืดจะมี 2 กลุ่มด้วยกันคือยาบรรเทาอาการ (relievers) และยาควบคุมอาการ (controllers) โดยยาบรรเทาอาการจะเป็นยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว มีบทบาทเฉพาะช่วงที่ผู้ป่วยเกิดอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลันเท่านั้น ไม่ได้ใช้เป็นยาหลักในการรักษาเพราะตัวยาไม่มีผลลดการอักเสบของหลอดลม ยาหลักที่ใช้ในการรักษาคือยาควบคุมอาการซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบของหลอดลม การใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้อาการของโรคถูกควบคุมและลดความเสี่ยงในการเกิดหอบหืดกำเริบเฉียบพลันลง1 ยาควบคุมอาการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาโรคหืดเรื้อรัง (persistent asthma) คือยาสเตียรอยด์ โดยจะใช้รูปแบบสูดเป็นหลักและต้องสูดต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่พบได้บ่อย เช่น เสียงแหบ มีเชื้อราเกิดในช่องปาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ายาอาจจะมีผลข้างเคียงต่อการเจริญเติบโตในเด็กได้1 ซึ่งอาจสร้างความกังวลใจให้กับหลายครอบครัว และอาจส่งผลถึงความร่วมมือในการรักษา เช่น ไม่อยากให้ใช้ยา หรือใช้ยาไม่ต่อเนื่อง จนอาจจะทำให้เด็กเกิดอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลันและรุนแรง ซึ่งนำไปสู่การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ดังนั้นในบทความนี้จะกล่าวถึงผลของยาสูดสเตียรอยด์ว่ามีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตในเด็กมากน้อยพียงไร และเหมาะสมหรือไม่ที่จะหยุดใช้ยา

ยาสูดสเตียรอยด์กับการเจริญเติบโตของเด็ก

จากข้อมูลการศึกษาของ Zhang L และคณะ ที่นำข้อมูลจาก 25 การศึกษามาวิเคราะห์รวมกัน (meta-analysis) โดยเป็นการศึกษาที่ทำในผู้ป่วยเด็กโรคหืดระดับน้อยถึงปานกลาง (mild to moderate) ที่มีการใช้ยาสูดสเตียรอยด์ (beclomethasone dipropionate, budesonide, ciclesonide, flunisolide, fluticasone propionate และ mometasone furoate) ขนาดต่ำหรือปานกลางเป็นประจำทุกวัน เทียบกับยาหลอกหรือยาที่ไม่ใช่สเตียรอยด์พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสูดสเตียรอยด์มีอัตราเร็วเฉลี่ยในการเจริญเติบโต (mean growth velocity) ลดลง 0.48 เซนติเมตรต่อปี และมีการเปลี่ยนแปลงความสูง (เทียบกับตอนเริ่มต้น) น้อยกว่ากลุ่มควบคุมเล็กน้อยคือ 0.61 เซนติเมตรในปีแรก2 ในส่วนการศึกษาที่ทำการติดตามผลเป็นระยะเวลานานซึ่งได้รับการอ้างอิงเป็นจำนวนมากของ Kell HW และคณะ ในปี 2012 ที่ทำขึ้นเพื่อติดตามผลการใช้ยาสูดสเตียรอยด์ budesonide ต่อความสูงของผู้ที่เข้าร่วมการศึกษา Children’s Asthma Management Program (CAMP) เมื่อปี 2002 (ประชากรที่เข้าร่วมการศึกษา CAMP ปี 2002 เป็นเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี มีอาการหอบหืดระดับน้อยถึงปานกลางและใช้ยาเป็นเวลานาน 4-6 ปี ยาที่ให้ขณะนั้นคือ ยาสูดสเตียรอยด์ budesonide ยา nedocromil และยาหลอกเปรียบเทียบกันเพื่อดูประสิทธิภาพของการใช้ยาในระยะเวลานานเป็นหลัก) ผลการศึกษาจากประชากรร้อยละ 90.3 ที่ได้มาวัดส่วนสูงอีกครั้ง (อายุเฉลี่ย 24.9 ปี) พบว่า อัตราเร็วของการเจริญเติบโตในกลุ่มที่ได้รับยาสูดสเตียรอยด์ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมในปีหลังๆ ของการใช้ยา ความแตกต่างจะพบได้มากที่สุดแค่ในช่วง 1-2 ปีแรกเท่านั้นและความสูงเฉลี่ยของกลุ่มที่ได้รับยาสูดสเตียรอยด์น้อยกว่ากลุ่มควบคุมแค่เล็กน้อยคือประมาณ 1 เซนติเมตร3 นอกจากนี้การศึกษาอื่นๆ ก็พบความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การศึกษาของ Doull IJ และคณะที่ศึกษาในเด็กอายุระหว่าง 7-9 ปี ซึ่งสุ่มให้ได้รับยาสูดสเตียรอยด์ budesonide ขนาด 400 ไมโครกรัมต่อวันหรือยาหลอก พบว่าเมื่อจบการศึกษาเดือนที่ 7 เด็กกลุ่มที่ได้รับยาสูดสเตียรอยด์ budesonide มีความสูงน้อยกว่าเด็กกลุ่มที่ได้รับยาหลอกประมาณ 1 เซนติเมตร4 จากข้อมูลการศึกษาข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัจจัยด้านยาไม่ได้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตในเด็กมากนัก อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่นที่ควรคำนึงถึงร่วมด้วย เช่น ช่วงอายุที่ผู้ป่วยได้รับยา (เด็กอายุ 4-10 ปี ตอบสนองต่อยาสูดสเตียรอยด์ได้ไวกว่าเด็กวัยหนุ่มสาว) ขนาดของยาสูดสเตียรอยด์ (การได้รับยาขนาดสูงเป็นเวลานานและไม่ถูกปรับลดขนาดยาแม้อาการจะดีขึ้นย่อมส่งผลกระทบได้มากกว่า) โรคภูมิแพ้ หรือแม้แต่ตัวโรคหืดเอง ซึ่งพบว่าโรคหืดระดับรุนแรงหรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ (uncontrolled asthma) จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตช้าลง เด็กจะเข้าสู่วัยหนุ่มสาวได้ช้ากว่าปกติ และอาจจะส่งผลถึงความสูงในวัยผู้ใหญ่ได้ด้วย5,6

ประโยชน์ที่ได้รับจากยาสูดสเตียรอยด์เหนือกว่าผลข้างเคียงเรื่องการเจริญเติบโต

จากหลักฐานวิชาการข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าเด็กที่ใช้ยาสูดสเตียรอยด์มีความสูงน้อยกว่าเด็กที่ไม่ใช้ยา ประมาณ 1 เซนติเมตร ซึ่งจะพบความแตกต่างในอัตราเร็วของการเจริญเติบโตแค่ในช่วง 1-2 ปีแรกของการเริ่มต้นใช้ยาเท่านั้น หลังจากนั้นอัตราเร็วของการเจริญเติบโตจะเป็นไปตามปกติ4 ดังนั้นผู้ปกครองควรสบายใจได้ว่าผลข้างเคียงจากการใช้ยาสูดสเตียรอยด์นี้ เป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้นหากเทียบกับประโยชน์ที่ยาสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยและลดอัตราการตายลงได้ อย่างไรก็ตามหากผู้ปกครองยังคงมีความกังวลใจ สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรได้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการรักษา ทราบถึงความสำคัญของการใช้ยา และเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทย สำหรับผู้ใหญ่เด็ก พ.ศ. 2555กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุตราไวโอเร็ต; 2555: 99-127.
  2. Zhang L, Prietsch SO, Ducharme FM. Inhaled corticosteroids in children with persistent asthma: effects on growth. Cochrane Database Syst Rev 2014; 17(7): CD009471
  3. Kell HW, Sternberg AL, Lescher R, Fuhlbrigge AL, Williams P, Zeiger RS, et al. Effect of inhaled glucocorticoids in childhood on adult height. N Eng J Med 2012; 367:904-12.
  4. Doull IJ, Freezer NJ, Holgate ST. Growth of prepubertal children with mild asthma treated with inhaled beclomethasone dipropionate. Am J Respir Crit Care Med 1995; 151(6):1715-9.
  5. Bush A. Inhaled corticosteroid and children’s growth. Arch Dis Child 2014; 99(3):191-2.
  6. Pedersen S. Do inhaled corticosteroids inhibit growth in children? Am J Respir Crit Care Med 2001; 164:521-35.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
หืด สเตียรอยด์ เตี้ย ความสูง
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้