หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อยากทราบว่าคนไข้ G6PD สามารถทาน amoxicillin ได้ไหมคะ ถ้าไม่ได้พอจะมียาฆ่าเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยกว่าไหมคะ

ถามโดย Amoxicillin เผยแพร่ตั้งแต่ 10/01/2022-13:16:37 -- 18,380 views
 

คำตอบ

เอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD หรือ glucose-6-phosphate dehydrogenase) ช่วยป้องกันเม็ดเลือดแดงจากการถูกทำลาย การพร่องเอนไซม์นี้ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายและอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้ การใช้ยาบางชนิดในผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดีจะกระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามขึ้นว่าผู้นั้นมีภาวะพร่องเอนไซม์รุนแรงมากน้อยแค่ไหนด้วย ดังนั้นแต่ละคนอาจได้รับผลกระทบจากยาชนิดเดียวกันแตกต่างกันได้ โดยทั่วไปยาต้านแบคทีเรียพวกเบตาแลกแทม (beta-lactams) ซึ่งรวมถึงอะม็อกซิซิลลิน (amoxicillin) ถือว่ามีความเสี่ยงน้อยที่จะส่งผลกระทบนี้ และจากข้อมูลโดยทั่วไปยาพวกเบตาแลกแทมไม่อยู่ในรายชื่อยาที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกในผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้มีรายงานถึงผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี เมื่อใช้อะม็อกซิซิลลินแล้วเกิดภาวะโลหิตจางเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก หากเป็นผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาอะม็อกซิซิลลิน อาจพิจารณาใช้ยาพวกเบตาแลกชนิดอื่น เช่น ยาในกลุ่มเซฟาโรสปอริน (cephalosporins) โดยเลือกยาที่มีขอบเขตการออกฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อที่ต้องการรักษาคล้ายกัน ซึ่งอาจเป็น cephalexin หรือยาอื่น ยังไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับเกิดภาวะโลหิตจางเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกจากการใช้ cephalexin ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี อย่างไรก็ตามควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังเช่นกัน อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง “โรคจีซิกพีดี...ยาและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง” โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/490

Reference:
1. Drugs to avoid in G6PD deficiency. http://www.cych.org.tw/pharm/MIMS%20Summary%20Table-G6PD.pdf
2. Blanquicett CJ, Raavi T, Robert SM. A severe episode of hemolytic anemia after amoxicillin exposure in a G6PD deficient patient. Arch Clin Med Case Rep 2019;3(3):104-12.

Keywords:
G6PD deficiency, amoxicillin, beta-lactams, cephalosporins, cephalexin





ภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้