หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กินยาlosecแล้วกินalum milk ต่อกันจะมีผลต่อกันมั๊ยแล้วควรกินยาอะไรถ้าเป็นโรคกระเพาะอาหาร

ถามโดย suwaree455@gmail.com เผยแพร่ตั้งแต่ 13/10/2013-16:29:50 -- 87,051 views
 

คำตอบ

Losec® เป็นชื่อการค้าของยา omeprazole ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดที่ถูกสร้างขึ้นจากเซลล์ที่กระเพาะอาหาร ส่วน alum milk มีตัวยาสำคัญคือ Al(OH)3 และ Mg(OH)2 เป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน ออกฤทธิ์โดยไปทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหารที่ถูกสร้างขึ้นแล้ว ช่วยลดสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะหรือสะเทินกรด ด้านปฏิกิริยาระหว่างยา omeprazole กับ alum milk มีประเด็นที่ควรคำนึงถึงอย่างน้อย 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ omeprazole เป็นยาที่ถูกกรดในกระเพาะอาหารทำลายได้ง่าย จึงออกแบบยาให้มีสารเคลือบป้องกันตัวยาไว้ จนกระทั่งเมื่อยาผ่านไปยังลำไส้เล็กซึ่งมีความเป็นด่างมากขึ้นหรือมีความเป็นกรดลดน้อยลงยาจึงเกิดการแตกตัว ถูกดูดซึมผ่านทางกระแสเลือด และกลับมาออกฤทธิ์ที่กระเพาะอาหาร แต่เนื่องจากคุณสมบัติของยา alum milk มีความเป็นด่าง ในทางทฤษฎีจึงมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อให้ยาทั้งสองชนิดพร้อมๆ กันจะทำให้ omeprazole เกิดการแตกตัวที่กระเพาะแทนที่จะเป็นบริเวณลำไส้เล็ก สภาวะในกระเพาะอาหารขณะนั้นมีเป็นกรดลดลงจากฤทธิ์ของ alum milk จึงอาจส่งผลกระทบน้อยต่อความคงตัวของยา omeprazole ส่วนอีกประเด็นหนึ่งตัวยา Al(OH)3 และ Mg(OH)2 ใน alum milk อาจดูดซับยา omeprazole ได้ด้วยเหตุนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาทั้งสองพร้อมกัน แต่จากข้อมูลการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของยา omeprazole เมื่อให้ร่วมกับยา antacid ชนิดน้ำ (กลุ่มเดียวกับ alum milk) เปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับยา omeprazole อย่างเดียว ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 6 ราย ติดตามวัดเวลาที่ระดับยาในเลือดขึ้นสูงสุด, ความเข้มข้นของยาสูงสุด และปริมาณยารวมดูดซึมรวม พบว่ามีความแปรปรวนของข้อมูลระหว่างบุคคลค่อนข้างมาก แต่ผลสรุปรวมคือค่าความเข้มข้นของยาสูงสุด ปริมาณยารวม ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างสองกลุ่ม อย่างไรก็ตามวิธีการรับประทานยา omeprazole จะแนะนำให้รับประทานก่อนอาหารประมาณ ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท้องว่าง หากรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารจะทำให้การดูดซึมช้าออกไป แต่ไม่มีผลมากนักต่อปริมาณการดูดซึมยา และมีข้อมูลแนะนำว่าควรรับประทานก่อนอาหารมื้อเช้าน่าจะเป็นมื้อที่มีความเหมาะสมที่สุดเนื่องจากปั้มหรือตัวขนส่งกรดจากภายในเซลล์กระเพาะอาหารออกสู่กระเพาะจะถูกที่สร้างได้มากในเวลากลางคืน ในตอนเช้าปั้มเหล่านี้จะถูกกระตุ้นให้ทำหน้าที่หลั่งกรดและอยู่ในรูปแบบที่พร้อมทำงานมากขึ้น ยา omeprazole ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งปั้ม ดังกล่าวจึงทำงานได้เต็มที่หากให้ในมื้อแรกของวัน ส่วนยา alum milk โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานหลังอาหารเนื่องจากออกฤทธิ์สะเทินกรด ซึ่งกรดจะถูกหลั่งออกมาได้มากในช่วงหลังรับประทานอาหาร ดังนั้นโดยทั่วไปจึงมีโอกาสที่จะรับประทานยาทั้งสองชนิดพร้อมกันน้อย ส่วนยารักษาโรคกระเพาะยังมีอีกหลายกลุ่ม ได้แก่ H2 receptor antagonists เช่น ranitidine, famotidine ยาปกป้องผนังกระเพาะอาหาร เช่น rebamipide, sucralfate เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้มีการออกฤทธิ์และอาการไม่พึงประสงค์แตกต่างกันออกไปการพิจารณาเลือกใช้ยาชนิดใดจำเป็นต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับภาวะโรคของผู้ป่วย Key words: omeprazole, antacid, alum milk, drug interaction, ยาลดกรด, โอมีพราโซล, ปฏิกิริยาระหว่างยา

Reference:
Ref:
1. Howden CW, Reid JL. The effect of antacids and metoclopramide on omeprazole absorption and disposition. Br J Clin Pharmac. 1988;25: 779-81.
2. Shin JM, Sachs G. Pharmacology of proton pump inhibitors. Curr Gastroenterol Rep. 2008; 10(6): 528-34.

Keywords:
-





ทางเดินอาหาร

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้