หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การมีอาการปวดหัวไมเกรนรุนแรง ควรรับประทานยาตัวไหนได้บ้าง

ถามโดย ศสิณา เผยแพร่ตั้งแต่ 17/08/2024-19:54:50 -- 4,142 views
 

คำตอบ

ไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะที่พบบ่อย จัดอยู่ในกลุ่มอาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ กล่าวคือไม่มีพยาธิสภาพหรือความผิดปกติบริเวณคอหรือศีรษะ อาการที่มักพบ คือ ปวดศีรษะครึ่งซีกเป็นพัก ๆ ระยะเวลาที่มีอาการครั้งละประมาณ 4-72 ชั่วโมง อาจมีลักษณะของการปวดศีรษะเป็นแบบตุ้บ ๆ หรือปวดตามชีพจร และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยมีปัจจัยกระตุ้นของโรคที่หลากหลาย เช่น การอยู่ในที่แสงจ้า (photophobia) การได้ยินเสียงดัง (phonophobia) และการรับประทานอาหารหมักดอง สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดไมเกรนอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.) ยาแก้ปวดทั่วไป เช่น acetaminophen ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น aspirin, ibuprofen, naproxen, diclofenac และยากลุ่ม opioids 2.) ยาแก้ปวดเฉพาะไมเกรน ได้แก่ ergotamine และยากลุ่ม triptans เช่น sumatriptan และ eletriptan จากแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและการรักษาปวดศีรษะไมเกรน พ.ศ. 2565 แนะนำการรักษาแบบแบ่งชั้น หมายถึง การเลือกให้ยาแก้ปวดตามความรุนแรงของอาการ หากปวดศีรษะรุนแรงเล็กน้อยหรือปานกลางอาจใช้ยาแก้ปวดทั่วไป แต่ควรหลีกเลี่ยงการให้ยากลุ่ม opioids เป็นการรักษาลำดับแรก เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดยาและทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป หากปวดศีรษะรุนแรงปานกลางหรือมาก อาจใช้ยาแก้ปวดเฉพาะไมเกรน ในกรณีที่อาการปวดศีรษะไม่ดีขึ้นภายใน 2 ชั่วโมง อาจให้ยาชนิดเดิมซ้ำได้อีกครั้ง หรือพิจารณาให้ยาในลำดับถัดไป เช่น หากเริ่มจากยาแก้ปวดทั่วไป ยาลำดับถัดไปได้แก่ ergotamine และยากลุ่ม triptans ถัดไปเป็นยาผสมระหว่างยา ergotamine หรือยากลุ่ม triptans กับยากลุ่ม NSAIDs และสุดท้ายเป็นยากลุ่ม opioids หรือยาผสมระหว่าง ยากลุ่ม opioids กับยาแก้ปวดทั่วไป (ให้ยาในกลุ่ม triptans ห่างจากยา ergotamine อย่างน้อย 24 ชั่วโมง) อย่างไรก็ตามอาการปวดศีรษะอาจเกิดจากหลายโรคที่มีสาเหตุแตกต่างกัน หากรับประทานยาแก้ปวดในเบื้องต้นด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยอย่างครบถ้วน และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

Reference:
ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะ ภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและการรักษาปวดศีรษะไมเกรน พ.ศ. 2565. [อินเตอร์เน็ต]; 2565. [เข้าถึงเมื่อ 1 กันยายน 2567]. เข้าถึงได้จาก : http://neurothai.org/media/news_file/495-CPG-migraine-2565-20230104074752.pdf

Keywords:
โรคปวดศีรษะไมเกรน , ยาแก้ปวด





ระบบประสาท

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้