หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ป่วยรายหนึ่ง มีโรคประจำตัวเป็น Miastenia gravis มียาประจำตัวคือ Pyridostigmine (Mestinon) ต่อมาตรวจพบว่ามีภาวะไขมันในเลือดสูง เคยได้รับยา simvastatin แต่พบว่ามีพบกระทบกับ Miastenia gravis ทำให้มีอาการแย่ลง อยากทราบว่ายาในกลุ่ม statin มีผลกับผู้ป่วย miastinia gravis มีอาการแย่ลงหรือไม่ ยาในกลุ่ม statin ทุกตัวไหมที่ทำให้อาการแย่ลง และมียาลดไขมันตัวไหนหรือกลุ่มไหนสามารถใช้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย

ถามโดย จีจี้ เผยแพร่ตั้งแต่ 12/08/2024-11:44:25 -- 557 views
 

คำตอบ

Myasthenia gravis (MG) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune disease) ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันมีการสร้างออโตแอนติบอดี (autoantibodies) ที่มีความจำเพาะต่อตัวรับแอซิติลโคลีนชนิดนิโคตินิก (nicotinic acetylcholine postsynaptic receptor) ที่บริเวณรอยต่อระหว่างปลายประสาทกับกล้ามเนื้อ (neuromuscular junction) ทำให้สารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (acetylcholine) ไม่สามารถจับกับตัวรับได้ จึงไม่เกิดการส่งสัญญาณกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และอาจเกิดการทำลายตัวรับจนไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง หรืออาการล้าได้ ยากลุ่ม statins เป็นยาลดระดับไขมันในเลือดโดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์หลักในกระบวนการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล อาการข้างเคียงที่อาจพบได้จากยากลุ่มนี้ ได้แก่ อาการทางกล้ามเนื้อ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของ T. Sugimoto et al. พบว่าผู้ป่วย MG ที่ใช้ยากลุ่ม statins แล้วมีอาการแย่ลงมีความชุกที่ต่ำและมีอาการไม่รุนแรง (6 คนจากทั้งหมด 400 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลพบว่ายากลุ่ม statins ชนิดที่มีคุณสมบัติชอบละลายในไขมัน (lipophilic) เช่น simvastatin, atorvastatin, pitavastatin อาจทำให้เกิดอาการทางกล้ามเนื้อได้มากกว่าชนิดที่มีคุณสมบัติชอบละลายในน้ำ (hydrophilic) เช่น rosuvastatin, pravastatin อย่างไรก็ตามการใช้ยากลุ่ม statins ในผู้ป่วย MG ควรสังเกตถึงอาการทางกล้ามเนื้อที่ร่วมด้วย ในกรณีที่ผู้ป่วย MG ไม่สามารถใช้ยากลุ่ม statins ได้ อาจพิจารณายาลดระดับไขมันในเลือดกลุ่มอื่นที่มีผลข้างเคียงต่อกล้ามเนื้อที่ต่ำ เช่น ยากลุ่ม cholesterol absorption inhibitors (ezetimibe) ยากลุ่ม PCSK9 inhibitors (alirocumab) เป็นต้น หากผู้ป่วย MG มีผลกระทบจากการใช้ยากลุ่ม statins ควรพิจารณาให้พบแพทย์ผู้ดูแล เพื่อตัดสินใจปรับเปลี่ยนยาและการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป

Reference:
Aashit K Shah. Myasthenia gravis [Internet]. 2023 [cited 2024 Aug 29]. Available from: https://emedicine.medscape.com/article/1171206-overview.

เมธาพร มั่นคง. Myasthenia gravis คืออะไร [อินเทอร์เน็ต]. 2566 [เข้าถึงเมื่อ 29 สิงหาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://pt.mahidol.ac.th/ptcenter/knowledge-article/myasthenia_gravis/.

Choo Sim Mei. Statins: Risk of Inducing or Aggravating Myasthenia Gravis [Internet]. 2023 [cited 2024 Aug 28]. Available from: https://www.npra.gov.my/index.php/en/health-professionals/recent-updates/449-english/safety-alerts-main/safety-alerts-2023/1527508-statins-risk-of-inducing-or-aggravating-myasthenia-gravis.html.

Attardo S, Musumeci O, Velardo D, Toscano A. Statins Neuromuscular Adverse Effects. Int J Mol Sci. 2022;23(15):8364.

Sugimoto T, Suzuki S, Uzawa A, Yamawaki T, Masuda M, Minami N, et al. Worsening of myasthenic symptoms associated with statins. J Neurol Sci. 2024;464:123154.

Andronie-Cioară FL, Jurcău A, Jurcău MC, Nistor-Cseppentö DC, Simion A. Cholesterol Management in Neurology: Time for Revised Strategies?  J Pers Med. 2022; 12(12):1981.

Keywords:
myasthenia gravis, statins





กล้ามเนื้อและข้อต่อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้