หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผมเป็นเภสัชกรที่พึ่งเข้ามาคุมร้านขายยาที่ตั้งมากกว่า 50 ปี มีแบบแผนการจ่ายยาที่ไม่ถูกต้องนัก คนไข้เป็นโรคเก๊าท์ มีโรคประจำตัวอื่นคือ ไขมันในเลือดสูง ความดัน มีน้ำตาลในเลือดสูงนิด หน่อย และเป็นโรคไตน่าจะระยะ 3 ได้ยา colchicine, dexamethasone, tetracycline, Diclofenac 25, ibuprofen200, para500 กินมานานแล้วอาการควบคุมได้ ให้กินยาเฉพาะเวลามีอาการเก๊าท์กำเริบ ผมเปลี่ยนdexa เป็น prednisolone Tetra เป็นยาตำรับสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง และไม่ให้Diclofenac25 นอกนั้นยังให้เหมือนเดิม เพื่อต้องการลดผลที่มีต่อไตและตับของยา NSAIDs ในชุดเดิมที่ได้ไป ผมไม่แน่ใจว่าเมื่อเก๊าท์กำเริบ ประสิทธิภาพยาชุดใหม่ที่ให้ไป จะดีเหมือนชุดเดิมไหม แต่ที่ให้ตำรับเถาวัลย์เปรียง เพราะมันมีผลต่อตับและไตน้อยจากที่ได้คุยกับแพทย์แผนไทย เคสนี้เราบอกให้คนไข้กินอย่างละ 1 เม็ดเฉพาะเวลามีอาการกำเริบ ผมพยายามจำกัดการใช้ stroid ของร้าน ให้ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ถามโดย ศวัส สุริยา เผยแพร่ตั้งแต่ 19/07/2024-13:09:26 -- 867 views
 

คำตอบ

เถาวัลย์เปรียงมีคุณสมบัติในการลดความปวดคล้ายยากลุ่ม non-steroidal anti-inflammatories (NSAIDs) ซึ่งงานวิจัยแบบ meta-analysis แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง (low back pain) และข้ออักเสบ (osteoarthritis) และอาการไม่พึงประสงค์ (ระคายเคืองกระเพาะอาหาร) ไม่แตกต่างกันระหว่างยากลุ่ม NSAIDs และเถาวัลย์เปรียง ทั้งนี้รูปแบบของเถาวัลย์เปรียงที่ใช้ในงานวิจัยมีทั้งชนิดสกัดและชนิดผงแห้ง แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบของเถาวัลย์เปรียงในการบรรเทาอาการปวดช่วงที่เก๊าต์กำเริบ ดังนั้นการใช้เถาวัลย์เปรียงในกรณีนี้อาจยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยที่มีคุณภาพดีสนับสนุนประสิทธิภาพของยา และปัจจุบันยังไม่พบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในระบบหลอดเลือดหัวใจและไตจากการใช้เถาวัลย์เปรียงซึ่งต่างจากกรณีของ NSAIDs อย่างไรก็ตามจากรายละเอียดของความเจ็บป่วยนั้น พบว่าผู้ป่วยอาจมีเพีีียงยาบรรเทาอาการปวดจากโรคเก๊าต์แต่ยังไม่มียาที่ช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นใน การใช้ยาแก้ปวดต่าง ๆ ลง รวมถึงมีการใช้ยาควบคุมพิเศษ เช่น prednisolone ที่จำเป็นต้องมีใบส่ังแพทย์ประกอบการใช้ยา ดังนั้นผู้ป่วยรายนี้อาจมีความซับซ้อนของโรคมากและควรได้รับการประเมินและติดตามการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เภสัชกรควรหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนยารักษาโรคเรื้อรังให้แก่ผู้ป่วยและแนะนำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามสิทธิ์การรักษาอย่างเหมาะสม

Reference:
1. Nicolaides NC, Pavlaki AN, Maria Alexandra MA, et al. Glucocorticoid Therapy and Adrenal Suppression. [Updated 2018 Oct 19]. In: Feingold KR, Anawalt B, Blackman MR, et al., editors. Endotext [Internet].2018[cited 8 Aug 2024]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279156/table/adrenal_glucocorticoid-therapy-and-adrenal-suppression.T./
2. Puttarak, P., Sawangjit, R., & Chaiyakunapruk, N. Efficacy and safety of Derris scandens (Roxb.) Benth. for musculoskeletal pain treatment: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Journal of ethnopharmacology [Internet].2016[cited 8 Aug 2024];194, 316–323. Available from: https://doi.org/10.1016/j.jep.2016.09.021
3. ยรรยงค์ อิ่มสุวรรณ. มารู้จักกับยาสเตียรอยด์ (Steroid). สำนักงานสนับสนุน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา.[อินเทอร์เน็ต ];2559 [เข้า ถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก : http://www.med-afdc.net/wp-content/uploads/2016/11/มารู้จักกับยา-Steroid.pdf

Keywords:
acute gout , NSAID , glucocorticoid , เถาวัลย์เปรียง





กล้ามเนื้อและข้อต่อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้