หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาทาแผล หลังผ่าริดสีดวง ผมผ่าตัดริดสีดวง แบบเย็บแผลครับ ตอนนี้ผ่านมา2เดือนแล้ว ใช้ยา duproc ตั้งแต่แรกๆเลย ปัจจุบันมีความรู้สึกว่าแผลมีอาการคันและระคายเคือง คลำไปรู้สึกนูนเล็กๆ มันจะอันตรายไหมครับ เสี่ยงเป็นนูนแบบคีลอยด์ไหม มันจะขยายออกไหมครับ กังวลมากเลย ถ้าแผลกลายเป็นคีลอยด์ จะรักษายังไงครับ ผมควรใช้ยาตัวไหนทาดีครับตอนนี้ รบกวนด้วยนะครับ????

ถามโดย Jack เผยแพร่ตั้งแต่ 21/04/2024-18:49:54 -- 623 views
 

คำตอบ

คีลอยด์เป็นรอยแผลเป็นชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นแผลนูน แดง มีการขยายใหญ่ออกนอกขอบเขตบาดแผลเดิม อาจมีอาการคัน เจ็บ และรู้สึกผิวตึงรั้งร่วมด้วย เกิดจากการตอบสนองของการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนที่มากเกินกว่าปกติ จนเกิดความไม่สมดุลของคอลลาเจนและเกิดเป็นแผลนูนขึ้น คีลอยด์สามารถเกิดได้ในตำแหน่งที่เป็นแผลทั่วร่างกาย รวมถึงบริเวณที่ทำการผ่าตัดเย็บแผลก็มีโอกาสเกิดคีลอยด์ได้มากขึ้นการรักษาคีลอยด์มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะของแผลที่เกิดขึ้น เช่น 1) การใช้ยาทารักษารอยแผลเป็นหรือใช้แผ่นซิลิโคนที่มีส่วนประกอบของ silicone gel ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังและลดการอักเสบได้ 2) การฉีดยาสเตียรอยด์ (intralesional corticosteroid injections) จะช่วยลดการอักเสบและยับยั้งการสร้างคอลลาเจน โดยใช้ triamcinolone acetonide ขนาด 10-40 mg/ml ฉีดเข้าไปในบริเวณที่เป็นแผลคีลอยด์โดยตรง ทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ จนกระทั่งแผลคีลอยด์ยุบลงจนเรียบ หรือ 3) การผ่าตัดและการเลเซอร์คีลอยด์มักเลือกใช้ในกรณีแผลคีลอยด์ไม่ตอบสนองกับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามจากข้อมูลยังไม่สามารถระบุได้ว่าแผลที่เกิดขึ้นเป็นแผลคีลอยด์หรือไม่ ทั้งนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป รวมถึงหากมีอาการคันหรือระคายเคือง ควรหลีกเลี่ยงการเกาหรือจับบริเวณที่เกิดแผลบ่อย ๆ เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ และมีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์ได้มากขึ้น

Reference:
1. Chattinnakorn S. Update managements for keloid scar. Srinagarind Med J. 2014;29(6):567-73.
2. สรวุฒิ ชูอ่องสกุล. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. แผลเป็น [online]. 2010 [Cited 4 June 2024]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=548.
3. Juckett G, Hartman-Adams H. Management of keloids and hypertrophic scars. Am Fam Physician. 2009;80(3):253-60.

Keywords:
Keloids, คีลอยด์





ผิวหนังและเครื่องสำอาง

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้