Tirzepatide ลดน้ำหนักได้เหนือกว่า semaglutide?
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน ตุลาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 957 ครั้ง
โรคอ้วน เป็นภาวะที่มีปริมาณไขมันเพิ่มขึ้นในร่างกายทุกส่วนทั้งที่ใต้ผิวหนังและในช่องท้อง ร่วมกับน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แนวทางการรักษาโรคอ้วนในปัจจุบันแนะนำให้ใช้ยาลดน้ำหนักในผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป หรือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ปัจจุบันมียาลดน้ำหนักรุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดข้อจำกัดด้านความปลอดภัยของยารุ่นเก่า ได้แก่ liraglutide และ semaglutide ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่ม glucagon-like peptide-1 (GLP-1) receptor agonists รูปแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ที่พบว่าสามารถลดน้ำหนักตัวได้ดีและได้รับการอนุญาตให้ใช้ลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วน ล่าสุดมีการพัฒนา tirzepatide ซึ่งเป็นยารักษาเบาหวานที่่ออกฤทธิ์เป็น agonist ต่อ receptor ของทั้ง GLP-1 และ gastric inhibitory polypeptide (GIP) ในรูปแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังเช่นเดียวกัน โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาลดน้ำหนักเมื่อปี พ.ศ. 2565 เนื่องจาก tirzepatide เป็นยาใหม่ จึงยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยกับยาที่มีก่อนหน้านี้
ไม่นานมานี้มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการลดน้ำหนักของ semaglutide และ tirzepatide โดยศึกษาในผู้ใหญ่ที่มีโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกินที่ไม่เคยใช้ยาทั้งสองมาก่อน จำนวน 41,222 คน ใช้ระยะเวลาในการศึกษา 1 ปี ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มจะได้รับยาที่ขนาดเริ่มต้น ได้แก่ semaglutide 0.5 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง หรือ tirzepatide 5 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง แล้วเพิ่มขนาดยาทุก 4 สัปดาห์ จนถึงขนาดยาเป้าหมาย ได้แก่ semaglutide 1.7 หรือ 2.4 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง หรือ tirzepatide 10 หรือ 15 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง ขึ้นกับการตอบสนองของแต่ละบุคคล แล้วติดตามประสิทธิภาพการรักษาโดยวัดน้ำหนักตัวที่ 3, 6 และ 12 เดือนหลังจากเริ่มใช้ยา พบว่าที่กลุ่ม tirzepatide ลดน้ำหนักตัวได้มากกว่ากลุ่ม semaglutide 2.4, 4.3 และ 6.9% ตามลำดับ โดยพบผู้ที่ลดน้ำหนักได้ 5% ในกลุ่ม tirzepatide มากกว่ากลุ่ม semaglutide 1.76, 2.54 และ 3.24 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในกลุ่มย่อยที่แบ่งเป็นผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วยและผู้ป่วยที่ไม่มีโรคเบาหวาน พบว่า tirzepatide ให้ผลลดน้ำหนักได้มากกว่า semaglutide ทั้งสองกลุ่ม ด้านความปลอดภัย การศึกษานี้มีการประเมินผลข้างเคียงที่มีรุนแรงระดับปานกลางถึงรุนแรงเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารในช่วงตลอดระยะเวลา 1 ปี พบว่าทั้งสองกลุ่มมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษานี้จึงสรุปได้ว่า tirzepatide มีประสิทธิภาพลดน้ำหนักมากกว่า semaglutide และเกิดผลข้างเคียงไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
แม้จะดูเหมือนว่า tirzepatide ให้ผลลดน้ำหนักได้มากกว่า semaglutide แต่ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้ยาทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนเลือกใช้ยา เช่น เนื่องจาก tirzepatide ลดการ เคลื่อนไหวของทางเดินอาหารได้มากจนสามารถลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดได้ จึงมีคำแนะนำให้ใช้การ คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยขณะใช้ยา ในขณะที่ semaglutide ไม่พบว่ามีผลต่อประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด ชนิดรับประทาน รวมทั้ง semaglutide ยังได้รับข้อบ่งใช้ในการลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงเกี่ยวกับโรคหัวใจ และหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีโรคอ้วนอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Rodriguez PJ, Goodwin Cartwright BM, Gratzl S, et al. Semaglutide vs Tirzepatide for Weight Loss in Adults with Overweight or Obesity. JAMA Intern Med. 2024 Jul 8:e242525.
2. Zaffina I, Pelle MC, Armentaro G, et al. Effect of dual glucose-dependent insulinotropic peptide/glucagon-like peptide-1 receptor agonist on weight loss in subjects with obesity. Front Endocrinol (Lausanne). 2023 Feb 22; 14:1095753.
3. Food and drug administration. WEGOVY(R) injection [internet]. 2017 [cited 2024 Jul 13]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2024/ 215256s011lbl.pdf.
4. Food and drug administration. ZEPBOUND(R) injection [internet]. 2023 [cited 2024 Jul 13]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2023/ 217806s000lbl.pdf.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
semaglutide
tirzepatide
ยาลดน้ำหนัก