หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Zoliflodacin อีกหนึ่งความหวังใหม่สำหรับรักษาหนองในชนิดดื้อยา

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กันยายน ปี 2567 -- อ่านแล้ว 989 ครั้ง
 
ในปัจจุบันปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อหนองใน (antimicrobial-resistant N. gonorrhoeae) ที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการรักษาโรคหนองใน โดยเฉพาะการดื้อต่อยาในกลุ่ม extended-spectrum cephalosporins ซึ่งเป็นยาหลักที่แนะนำให้ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จึงมีความพยายามในการค้นหายาใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับโรคนี้ โดย zoliflodacin เป็นยาต้านแบคทีเรียชนิดใหม่ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานปกติและการสืบพันธุ์ของแบคทีเรียที่เรียกว่า topoisomerase type II จากการศึกษาในหลอดทดลองแสดงให้เห็นว่า zoliflodacin มีฤทธิ์ต้านสายพันธุ์ที่ดื้อยาหลายชนิด (multidrug-resistant strains) ของเชื้อ Neisseria gonorrhoeae รวมถึงสายพันธุ์ที่ดื้อต่อ ceftriaxone และ azithromycin โดยไม่มีการดื้อยาข้ามกับยาปฏิชีวนะตัวอื่น และอาจเป็นความหวังใหม่ในการรักษาหนองในชนิดดื้อยา

ในการวิจัยทางคลินิกระยะ 3 มีจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัย 930 คน ที่อายุมากกว่า 12 ปี และติดเชื้อโรคหนองในทั่วไป (uncomplicated gonorrhoeae) ใน 16 เขต ที่มีการติดเชื้อโรคหนองในค่อนข้างสูงของ 5 ประเทศ คือ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกา เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง zoliflodacin ชนิดรับประทานขนาด 3 กรัม ครั้งเดียว กับการรักษามาตรฐาน (ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ceftriaxone ขนาด 500 มิลลิกรัม ร่วมกับยารับประทาน azithromycin ขนาด 1 กรัมครั้งเดียว) โดยผลลัพธ์หลักคือการตอบสนองทางจุลชีววิทยาจากปริมาณเชื้อก่อโรคที่ลดลงบริเวณอวัยวะเพศประมาณ 6 วัน หลังการรักษา พบว่า zoliflodacin ให้ผลไม่ด้อยกว่าการรักษามาตรฐาน โดย zoliflodacin มีอัตราการรักษาทางจุลชีววิทยาที่ 90.9% ซึ่งต่ำกว่า ceftriaxone และ azithromycin ที่มีอัตราการรักษา 96.2% เล็กน้อย (ต่างกัน 5.31%, 95%CI=1.38-8.65% ซึ่งไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ) จากการศึกษายังพบว่าผู้เข้าร่วมวิจัยสามารถทนต่อผลข้างเคียงของยา zoliflodacin ได้ดี และมีข้อมูลความปลอดภัยของยาใกล้เคียงกับการรักษามาตรฐาน อย่างไรก็ตามข้อมูลผลการวิจัยอย่างเป็นทางการของการศึกษานี้ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบข้อมูลการวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญก่อนทำการเผยแพร่ (peer review) ซึ่งกลุ่มผู้วิจัยได้วางแผนยื่นขออนุมัติขึ้นทะเบียนจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ในต้นปี ค.ศ. 2025

เอกสารอ้างอิง

1. กลุ่มบางรักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักโรคเอดส์วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาโรคหนองใน พ.ศ. 2562 [Internet]. 2019 [cited 2024 Jun 18]. Available from: https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2//files/แนวทางการดูแลรักษาโรคหนองใน%20พ.ศ.2562_paper.pdf.

2. Centers for disease control and prevention. Gonococcal infections among adolescents and adults - STI treatment guidelines [Internet]. 2021 [cited 2024 Jun 18]. Available from: https://www.cdc.gov/std/treatment-guidelines/gonorrhea-adults.htm.

3. The Global antibiotic research & development partnership (GARDP). Positive results in largest pivotal phase 3 trial of a novel antibiotic to treat gonorrhoea [Internet]. 2023 [cited 2024 Jun 18]. Available from: https://gardp.org/positive-results-announced-in-largest-pivotal-phase-3-trial-of-a-first-in-class-oral-antibiotic-to-treat-uncomplicated-gonorrhoea/.

4. National institute of allergy and infectious diseases (NIAID). NIH statement on preliminary efficacy results of first-in-class gonorrhea antibiotic developed through public-private partnership. NIH [Internet]. 2023 [cited 2024 Jun 18]. Available from: https://www.niaid.nih.gov/news-events/nih-statement-preliminary-efficacy-results-first-class-gonorrhea-antibiotic-developed.

5. Global antibiotics research and development partnership (GARDP). A multi-center, randomized, open-label, non-inferiority trial to evaluate the efficacy and safety of a single, oral dose of zoliflodacin compared to a combination of a single intramuscular dose of ceftriaxone and a single oral dose of azithromycin in the treatment of patients with uncomplicated gonorrhoea. NIH [Internet]. 2023 [cited 2024 Jun 19]. Available from: https://clinicaltrials.gov/study/NCT03959527.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Zoliflodacin หนองใน Neisseria gonorrhoeae
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้