หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Imetelstat ยาใหม่สำหรับผู้ป่วยไขกระดูกเสื่่อมเอ็็มดีีเอส

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กันยายน ปี 2567 -- อ่านแล้ว 889 ครั้ง
 
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2024 สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้จำหน่าย imetelstat (Rytelo) ซึ่งเป็นยาตัวแรกในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งโอลิโกนิวคลีโอไทด์เทโลเมอเรส (oligonucleotide telomerase inhibitor) สําหรับรักษาผู้ป่วยไขกระดูกเสื่่อมเอ็มดีเอส (myelodysplastic neoplasms: MDS) ที่มีความเสี่ยงต่ำจนถึงปานกลาง (low- to intermediate-1 risk) ซึ่งมีภาวะโลหิตจางและต้องได้รับเม็ดเลือดแดงอย่างน้อย 4 ยูนิต เป็นเวลานานกว่า 8 สัปดาห์ และผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (erythropoiesis-stimulating agents) โดยการอนุมัติครั้งนี้อ้างอิงจากผลลัพธ์ของการวิจัยด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แบบสุ่มควบคุมด้วยยาหลอก (randomized, placebo-controlled, phase 3: IMerge trial) ซึ่งพบว่าการรักษาด้วย imetelstat สามารถช่วยให้ผู้ป่วยลดการได้รับเม็ดเลือดแดงได้อย่างมีนัยสําคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก โดยในการศึกษามีผู้เข้าทดลองทั้งหมด 178 ราย ถูกสุ่มให้อยู่ในกลุ่ม imetelstat 7.1 มก./กก. (n=118) และกลุ่มยาหลอก (n=60) ระยะเวลาการติดตามผลเฉลี่ย คือ 19.5 เดือน ในกลุ่มการรักษาและ 17.5 เดือน ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ผู้ป่วยจะได้รับ imetelstat หรือยาหลอกโดยฉีดทางหลอดเลือดดำมากกว่า 2 ชั่วโมง เป็นรอบทุก 28 วัน จนกว่าโรคจะลุกลามหรือเกิดความเป็นพิษขึ้นจากยา และผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการดูแลแบบประคับประคอง รวมถึงการได้รับเม็ดเลือดแดงตลอดการทดลอง พบว่าอัตราของผู้ป่วยที่ไม่ต้องได้รับเม็ดเลือดแดงในสัปดาห์ที่ 8 ขึ้นไป คือ 39.8% ในกลุ่ม imetelstat เทียบกับ 15% ของยาหลอก อัตราของผู้ป่วยที่ไม่ต้องได้รับเม็ดเลือดแดงในสัปดาห์ที่ 24 ขึ้นไป คือ 28% ในกลุ่ม imetelstat เทียบกับ 3.3% ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ในส่วนของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในผู้ป่วยกลุ่ม imetelstat ซึ่งมากกว่าในกลุ่มยาหลอก ได้แก่ การลดลงของปริมาณเกล็ดเลือด เซลล์เม็ดเลือดขาวรวมและนิวโทรฟิล การเพิ่มขึ้นของระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase, alkaline phosphatase และalanine aminotransferase อาการอ่อนเพลีย การเพิ่มระยะเวลาในการแข็งตัวของเลือด (prolonged partial thromboplastin time) อาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ

สำหรับ MDS เป็นโรคในกลุ่มไขกระดูกล้มเหลวที่พบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ เกิดจากความผิดปกติของการสร้างเม็ดเลือดในไขกระดูกเนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ส่งผลให้การสร้างเม็ดเลือดไม่มีประสิทธิภาพ (ineffective hematopoiesis) จึงพบลักษณะรูปร่างของเซลล์ผิดปกติไป (dysplastic change) ในไขกระดูก เซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกตินี้จะไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ (differentiation) ได้อย่างปกติและเสียชีวิตอยู่ภายในไขกระดูก ไม่สามารถออกมาในกระแสเลือด จึงตรวจพบระดับเม็ดเลือดต่ำ (cytopenia) สามารถจำแนกระดับความเสี่ยงออกเป็น 1) กลุ่มความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ low และ intermediate-1 ส่วน 2) กลุ่มความเสี่ยงสูง ได้แก่ intermediate-2 และ high โดยความเสี่ยงจะบ่งชี้ถึงระยะเวลารอดชีวิตและอัตราเสี่ยงต่อการเกิด acute myeloid leukemia (AML) ที่แตกต่างกัน

เอกสารอ้างอิง

1. Center for drug evaluation & research of FDA. FDA approves imetelstat for low- to intermediate-1 risk myelodysplastic syndromes with transfusion-dependent anemia. [Internet]. 2024 [cited 2024 Jun 14]; Available from: https://www.fda.gov/drugs/ resources-information-approved-drugs/fda-approves-imetelstat-low-intermediate-1-risk-myelodysplastic-syndromes-transfusion-dependent.

2. คณะอนุกรรมการปรับปรุงแนวทางรักษาโรค MDS สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการวินิจฉัยและรักษาโรคไขกระดูกเสื่อมเอ็มดีเอส 2566 [Internet]. 2024 [cited 2024 Jun 14]; Available from: https://www.tsh.or.th/file_upload/files/eBook%20Guideline%20MDS% 202023%20Final%2020240213.pdf.

3. Platzbecker U, Santini V, Fenaux P, Sekeres MA, Savona MR, Madanat YF, et al. Imetelstat in patients with lower-risk myelodysplastic syndromes who have relapsed or are refractory to erythropoiesis-stimulating agents (IMerge): a multinational, randomised, double-blind, placebo-controlled, phase 3 trial. Lancet. 2024 Jan 20; 403(10423):249-260.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Imetelstat ไขกระดููกเสื่่อม ผู้้ป่่วยไขกระดููกเสื่่อมเอ็็มดีีเอส
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้