หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Dupilumab กับข้อบ่งใช้ใหม่สำหรับการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน สิงหาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 435 ครั้ง
 
Dupilumab เป็น human monoclonal IgG4 antibody ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ interleukin-4 (IL-4) และ interleukin-13 (IL-13) ซึ่งเป็นสารสื่อกลางที่ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบที่หลั่งจากเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophil ในปัจจุบัน dupilumab มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) โรคหืดระดับปานกลางถึงรุนแรงที่เกิดจากการอักเสบของเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophil หรือต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน (moderate-to-severe eosinophilic or oral steroid dependent asthma) โรคหลอดอาหารอักเสบจากเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophil (eosinophilic esophagitis) โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังร่วมกับริดสีดวงจมูก (chronic rhinosinusitis with nasal polyps) และโรคตุ่มแข็งคันเรื้อรัง (prurigo nodularis) ส่วนข้อบ่งใช้ใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease, COPD) ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มากกว่าครึ่งจะยังคงมีอาการกำเริบแม้ว่าจะได้รับการรักษามาตรฐานด้วย inhaled triple therapy ได้แก่ glucocorticoid, long-acting muscarinic antagonist (LAMA) และ long-acting β-agonist (LABA) โดยผู้ป่วย COPD กลุ่ม type 2 inflammation จะเกิดการอักเสบผ่านการทำงานของ IL-4 และ IL-13 ดังนั้น dupilumab จึงน่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย COPD กลุ่มนี้ได้

ข้อมูลจากการศึกษา BOREAS trial ก่อนหน้าพบว่า dupilumab มีประสิทธิภาพในการลดอาการกำเริบและช่วยให้การทำงานของปอดและคุณภาพชีวิตดีขึ้นในผู้ป่วย COPD กลุ่ม type 2 inflammation แต่ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น การทำการทดลองในช่วง COVID-19 ซึ่งส่งผลต่อการรวบรวมผู้เข้าร่วมงานวิจัยและพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทำให้มีอุบัติการณ์ของการกำเริบโดยรวมต่ำลง จึงมีการศึกษาซ้ำในชื่อ NOTUS trial เพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา dupilumab โดยการศึกษานี้เป็นการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แบบ randomized controlled trial ในผู้ป่วย COPD ที่มีระดับ absolute blood eosinophil count 300 cells/μl ขึ้นไป และได้รับ triple inhaler therapy จากนั้นแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ dupilumab 300 mg ฉีดใต้ผิวหนัง ทุก 2 สัปดาห์ และกลุ่ม placebo ซึ่งพบว่าที่ 52 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับ dupilumab มีอัตราการกำเริบระดับปานกลางหรือรุนแรงน้อยกว่ากลุ่ม placebo และยังมีการทำงานของปอดดีขึ้นอีกด้วย ส่วนด้านความปลอดภัยพบว่ามีความคล้ายคลึงกันทั้ง 2 กลุ่ม ดังนั้นผลจากการศึกษานี้จึงช่วยยืนยันว่า dupilumab สามารถลดอาการกำเริบ ช่วยให้การทำงานของปอดและคุณภาพชีวิตดีขึ้น และชะลอการดำเนินของโรค อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องทำการศึกษาในระยะยาวเพื่อประเมินถึงประโยชน์และความเสี่ยงในการใช้ โดยปัจจุบัน dupilumab อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจาก USFDA เพื่ออนุมัติให้ใช้เป็นยาเสริมของการรักษาแบบต่อเนื่อง (add-on maintenance therapy) สำหรับผู้ป่วย uncontrolled COPD กลุ่ม type 2 inflammation

เอกสารอ้างอิง

1. Gade A, Ghani H, Patel P. Dupilumab [Internet]. 2024 [cited 2024 Jun 12]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK585114/.

2. The global initiative for chronic obstructive lung disease (GOLD). Global strategy for prevention, diagnosis and management of COPD: 2024 report [Internet]. 2024 [cited 2024 Jun 12]. Available from: https://goldcopd.org/2024-gold-report/.

3. Bhatt SP, Rabe KF, Hanania NA, Vogelmeier CF, Cole J, Bafadhel M, et al. Dupilumab for COPD with type 2 inflammation indicated by eosinophil counts. N Engl J Med. 2023 Jul 20; 389(3):205-214.

4. Bhatt SP, Rabe KF, Hanania NA, Vogelmeier CF, Bafadhel M, Christenson SA, et al. Dupilumab for COPD with blood eosinophil evidence of type 2 inflammation. N Engl J Med. 2024 May 20.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง COPD Dupilumab
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้