หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Bisoprolol ไม่ช่วยลดการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน สิงหาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 1,037 ครั้ง
 
การกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease, COPD) สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตที่ลดลง อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น การสูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน และส่งผลให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล[1,2] ทั้งนี้เคยมีรายงานการศึกษาพบว่าผู้ป่วย COPD ทนต่อผลข้างเคียงจากการใช้ beta-blockers ได้ดี และการใช้ beta-blockers ยังสัมพันธ์กับการลดการกำเริบและอัตราการตายอีกด้วย [3,4] อย่างไรก็ตามต่อมามีการศึกษาชื่อว่า BLOCK COPD (Beta-Blockers for the Prevention of Acute Exacerbations of Chronic Obstructive Pulmonary Disease) ซึ่งได้หยุดการศึกษาไปทั้งที่ยังดำเนินการไม่สิ้นสุดเนื่องจากพบแนวโน้มว่า beta-blockers ไม่มีประสิทธิภาพในการลดการกำเริบของโรค COPD และยังทำให้เกิดข้อกังวลด้านความปลอดภัย[5]

ล่าสุดมีการศึกษาชื่อ BICS (Bisoprolol in COPD Study)[1] เป็นงานวิจัยแบบ placebo-controlled ซึ่งทดสอบสมมติฐานว่าการเพิ่มการรักษาด้วย bisoprolol ในผู้ป่วย COPD ที่มีความเสี่ยงของการกำเริบสูง จะช่วยลดอัตราการกำเริบของโรค COPD ได้หรือไม่ ผลการศึกษาพบว่าการใช้ bisoprolol ไม่ได้ทำให้จำนวนครั้งของการกำเริบของโรคลดลงในผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วย oral corticosteroids หรือ antibiotics หรือทั้งสองอย่าง โดยจากผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 515 ราย อายุเฉลี่ย 68 ปี เพศชาย 53% มีค่าเฉลี่ยปริมาตรของอากาศที่เป่าออกอย่างเร็วแรงในวินาทีที่ 1 (forced expiratory volume in one second, FEV1) เท่ากับ 50.1% ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการกำเริบ พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับ bisoprolol (n=259) หรือยาหลอก (n=256) เป็นเวลา 52 สัปดาห์ มีจำนวนการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ผู้ป่วยรายงานในช่วงระยะเวลาการรักษา 526 และ 513 ครั้ง คิดเป็นอัตราการกำเริบเฉลี่ย 2.03 และ 2.01 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดย adjusted incidence rate ratio=0.97 (95% CI 0.84-1.13; p=0.72) ส่วนด้านความปลอดภัยพบว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงเกิดขึ้นในผู้ป่วย 14.5% ในกลุ่มที่ได้รับ bisoprolol และ 14.3% ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (RR, 1.01, 95% CI, 0.62-1.66; p=0.96) การศึกษานี้จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐาน ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วย COPD ที่มีความเสี่ยงของการกำเริบสูง การรักษาด้วย beta-blockers โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง bisoprolol ซึ่งเชื่อว่าไม่มีผลทำให้หลอดลมหดตัว ไม่ช่วยลดการกำเริบของโรค COPD

เอกสารอ้างอิง

1. Devereux G, Cotton S, Nath M, McMeekin N, Campbell K, Chaudhuri R, et al. Bisoprolol in Patients with Chronic Obstructive Pulmonary Disease at High Risk of Exacerbation: The BICS Randomized Clinical Trial. JAMA. 2024.

2. Zhang Y, Morgan RL, Alonso-Coello P, Wiercioch W, Bała MM, Jaeschke RR, et al. A systematic review of how patients value COPD outcomes. Eur Respir J. 2018; 52(1).

3. Du Q, Sun Y, Ding N, Lu L, Chen Y. Beta-blockers reduced the risk of mortality and exacerbation in patients with COPD: a meta-analysis of observational studies. PLoS One. 2014; 9(11):e113048.

4. Short PM, Lipworth SI, Elder DH, Schembri S, Lipworth BJ. Effect of beta blockers in treatment of chronic obstructive pulmonary disease: a retrospective cohort study. BMJ. 2011; 342:d2549.

5. Dransfield MT, Voelker H, Bhatt SP, Brenner K, Casaburi R, Come CE, et al. Metoprolol for the Prevention of Acute Exacerbations of COPD. N Engl J Med. 2019; 381(24):2304-14.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
bisoprolol COPD exacerbations beta-blocker
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้