โรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (non-small cell lung cancer, NSCLC) เป็นมะเร็งที่สามารถพบการกลายพันธุ์ (mutation) ของยีนควบคุมการสร้าง epidermal growth factor receptor (EGFR) ได้บ่อย หนึ่งในนั้นคือการกลายพันธุ์ชนิด EGFR exon 20 insertion ซึ่งพบได้มากเป็นอันดับที่ 3 ใน EGFR mutation[1] และการกลายพันธุ์ชนิดนี้ทำให้ลดการตอบสนองต่อยากลุ่ม EGFR tyrosine kinase inhibitors ที่ได้รับอนุมัติใน EGFR mutation ก่อนหน้า เช่น erlotinib, afatinib, osimertinib เป็นต้น[2] โดยแนวเวชปฏิบัติปัจจุบันในผู้ป่วย NSCLC ที่ตรวจพบ EGFR exon 20 insertion ยังไม่มีการแนะนำให้ใช้ยามุ่งเป้าใด ๆ เป็นยาทางเลือกแรกในการรักษา (first-line therapy) นอกเหนือจากการใช้ยาเคมีบำบัด[3]
Amivantamab (Rybrevant®) เป็นยาชีววัตถุชนิด fully humanized bispecific monoclonal antibody ออกฤทธิ์ผ่านการจับอย่างจำเพาะต่อ EGFR receptor และ mesenchymal-epithelial transition receptor บริเวณ extracellular domain ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของ receptor ซึ่งอยู่ภายในเซลล์ การจับของ amivantamab มีผลเพิ่มการทำลายเซลล์มะเร็งจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ antibody dependent cell-mediated cytotoxicity (ADCC) และ antibody dependent cell-mediated trogocytosis (ADCT) ผ่านการทำงานของ natural killer (NK) cell และ macrophage ตามลำดับ นอกจากนั้น amivantamab ยังขัดขวางการจับของ endogenous EGF และเพิ่มการทำลาย receptor อีกด้วย[4] ปัจจุบัน amivantamab มีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วย NSCLC EGFR exon 20 insertion ที่เกิดการรุดหน้าของโรคหลังได้รับยาเคมี บำบัดมาก่อนหน้า (subsequent therapy) อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลว่า amivantamab ช่วยเพิ่มประสิทธิผล ของยาเคมีบำบัดหรือไม่
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2567 องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา อนุมัติการใช้ amivantamab ร่วมกับ carboplatin และ pemetrexed เป็นยาทางเลือกแรกในผู้ป่วย NSCLC ที่ตรวจพบ EGFR exon 20 insertion[5] โดยอ้างอิงประสิทธิภาพจาก PAPILLON trial[6] ซึ่งเป็นการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วย advanced NSCLC exon 20 insertion ที่ไม่ได้รับการรักษามาก่อนหน้า จำนวน 308 ราย โดยเปรียบเทียบระหว่างสองกลุ่ม คือ 1) amivantamab 1,400 mg (1,750 mg ถ้าน้ำหนักมากกว่า 80 kg) ผ่านหลอดเลือดดำทุก 1 สัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นเพิ่มขนาดเป็น 1,750 mg (2,100 mg ถ้าน้ำหนักมากกว่า 80 kg) ทุก 3 สัปดาห์ และยาเคมีบำบัดสูตรมาตรฐาน ได้แก่ carboplatin area under the curve 5 mg/ml/min (AUC5) จำนวน 4 รอบ ร่วมกับ pemetrexed 500 mg/m2 จนกระทั่งโรครุดหน้า (amivantamab-chemotherapy) และ 2) เคมีบำบัดสูตรมาตรฐานเพียงอย่างเดียว (chemotherapy) ซึ่งพบว่ากลุ่ม amivantamab-chemotherapy มีระยะเวลาการรุดหน้าของโรค (progression free survival) นานกว่ากลุ่ม chemotherapy ร้อยละ 40 (hazard ratio 0.60 95%CI: 0.30-0.53, p<0.001) สำหรับอาการข้างเคียงที่พบได้มากในกลุ่ม amivantamab-chemotherapy เมื่อเทียบกับกลุ่ม chemotherapy เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลต่ำ (neutropenia) การติดเชื้อบริเวณเล็บ (paronychia) ผื่น โปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำ (hypoalbuminemia) ท้องผูก และ infusion-site reaction เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1. Arcila ME, Nafa K, Chaft JE, et al. EGFR exon 20 insertion mutations in lung adenocarcinomas: prevalence, molecular heterogeneity, and clinicopathologic characteristics. Mol Cancer Ther. 2013; 12(2):220-229.
2. Robichaux JP, Elamin YY, Tan Z, et al. Mechanisms and clinical activity of an EGFR and HER2 exon 20-selective kinase inhibitor in non-small cell lung cancer. Nat Med. 2018; 24(5):638-646.
3. NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology (NCCN Guidelines®) for Non-small cell lung cancer V.2.2024. © National Comprehensive Cancer Network, Inc. 2024. All rights reserved. Accessed [2024 Mar 3].
4. Yun J, Lee SH, et al. Antitumor Activity of Amivantamab (JNJ-61186372), an EGFR-MET Bispecific Antibody, in Diverse Models of EGFR Exon 20 Insertion-Driven NSCLC. Cancer Discov. 2020 Aug; 10(8):1194-1209.
5. Center for Drug Evaluation, Research. FDA approves amivantamab-vmjw for EGFR exon 20 insertion-mutated non-small cell lung cancer indications. U.S. Food and Drug Administration. https://www.fda.gov/drugs/resources-information-approved-drugs/fda-approves-amivantamab-vmjw-egfr-exon-20-insertion-mutated-non-small-cell-lung-cancer-indications. Published March 1, 2024. Accessed March 3, 2024.
6. Zhou C, Tang KJ, Cho BC, et al. Amivantamab plus Chemotherapy in NSCLC with EGFR Exon 20 Insertions. N Engl J Med. 2023; 389(22):2039-2051.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Amivantamab
โรคมะเร็งปอด