หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Deucravacitinib…tyrosine kinase 2 inhibitor ชนิดแรกสำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (plaque psoriasis)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน ตุลาคม ปี 2565 -- อ่านแล้ว 1,791 ครั้ง
 
โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยและเป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง มีปัจจัยเกี่ยวข้องทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เอนไซม์ tyrosine kinase 2 (TYK2) อยู่ในกลุ่ม Janus kinase (Janus-associated kinase หรือ JAK) family เช่นเดียวกับ JAK1, JAK2 และ JAK3 เอนไซม์เหล่านี้เป็นชนิด non-receptor tyrosine kinase และเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหลายอย่างที่มีการอักเสบชนิดที่สัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันรวมถึงโรคสะเก็ดเงิน ยาที่ใช้รักษามีทั้ง topical drugs, phototherapy, traditional systemic drugs, biological agents (เช่น TNF-α inhibitors, IL-17 inhibitors, IL-23 inhibitors), small-molecule drugs ชนิดใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึง JAK inhibitors เช่น tofacitinib ที่ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาข้ออักเสบในโรคสะเก็ดเงิน (psoriatic arthritis) อย่างไรก็ตามยังไม่มียาชนิดใดรักษาโรคสะเก็ดเงินให้หายขาด การใช้ยาบางชนิดแม้ให้ผลการรักษาดีแต่มีข้อจำกัดด้วยผลไม่พึงประสงค์เนื่องจากต้องใช้ยานาน เช่นเดียวกับยาในกลุ่ม JAK inhibitors ที่มีผลไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เช่น ผลต่อโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ตลอดจนรบกวนการทำงานของตับและไต จึงไม่เหมาะที่จะใช้ยานาน การคิดค้นยาชนิดใหม่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อเร็ว ๆ นี้มียาชนิดใหม่ คือ deucravacitinib ซึ่งออกฤทธิ์เลือกยับยั้ง TYK2 (ขนาดที่ใช้ในการรักษามีฤทธิ์น้อยมากในการยับยั้ง JAK1, JAK2 และ JAK3) ยานี้ได้รับอนุมัติแล้วในบางประเทศเพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงขั้นที่ต้องการ systemic therapy หรือ phototherapy ยาดังกล่าวผลิตในรูปยาเม็ด ความแรง 6 มิลลิกรัม ขนาดที่แนะนำคือ 6 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง

การศึกษาทางคลินิกที่มาสนับสนุนข้อบ่งใช้ข้างต้นเป็นแบบ multicenter, randomized, double-blind, placebo- and active-controlled clinical trial จำนวน 2 การศึกษา ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (ค่ากลาง 47 ปี) และเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาขั้นปานกลาง (คะแนน Static Physician Global Assessment หรือ sPGA score = 3) ถึงขั้นรุนแรง (sPGA score = 4) ที่ต้องการ systemic therapy หรือ phototherapy จำนวนรวม 1,684 คน แบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่มแบบ 2:1:1 เพื่อให้ deucravacitinib ในขนาด 6 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง (n=841), ยาหลอก (n=421) และ apremilast ในขนาด 30 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง (n=422) เมื่อประเมินผลในสัปดาห์ที่ 16 โดยเทียบกับยาหลอก พบว่ากลุ่ม deucravacitinib ให้ผลดีกว่ายาหลอกทั้งในการศึกษาที่ 1 และการศึกษาที่ 2 ไม่ว่าจะเป็น primary endpoint คือ (1) จำนวนผู้ป่วย (%) ที่มี PGA score เท่ากับ 0 (clear) หรือ 1 (almost clear) ที่มีคะแนนดีขึ้นไม่น้อยกว่า 2 ระดับจากค่าเริ่มต้น โดยมีค่า % difference เท่ากับ 47% และ 41% และ (2) จำนวนผู้ป่วยที่มี Psoriasis Area and Severity Index (PASI) score ดีขึ้นไม่น้อยกว่า 75% จากค่าเริ่มต้น (PASI 75) โดยมีค่า % difference เท่ากับ 46% และ 44% หรือการประเมินค่าอื่น ๆ เป็น secondary endpoint เช่น จำนวนผู้ป่วยที่มีค่า PASI 90 โดยมีค่า % difference เท่ากับ 32% และ 24%, จำนวนผู้ป่วยที่มีค่า PASI 100 โดยมีค่า % difference เท่ากับ 14% และ 9%, ค่า Scalp Specific Physician’s Global Assessment หรือ ssPGA ที่มีคะแนน 0 หรือ 1 โดยมีค่า % difference เท่ากับ 53% และ 42% (ค่าต่าง ๆ ข้างต้นเป็น % difference ที่ได้จากการศึกษาที่ 1 และการศึกษาที่ 2 ตามลำดับ) นอกจากนี้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ apremilast พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ให้การตอบสนองต่อ deucravacitinib มีสูงกว่ากลุ่ม apremilast เมื่อประเมินด้วยค่าต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น (ยกเว้นค่า PASI 100 ซึ่งไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบ) โดยมี % difference เท่ากับ 9-30% ส่วนผลไม่พึงประสงค์ของ deucravacitinib ที่พบบ่อยที่สุด (≥1%) ได้แก่ การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน, creatine phosphokinase ในเลือดสูงขึ้น, การติดเชื้อ herpes simplex, แผลในปาก, folliculitis และสิว

อ้างอิงจาก:

(1) Sotyktu (deucravacitinib) tablets, for oral use. Reference ID: 5043643, revised: 09/2022. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2022/214958s000lbl.pdf; (2) Lé AM, Puig L, Torres T. Deucravacitinib for the treatment of psoriatic disease. Am J Clin Dermatol 202212:1-10; (3) Słuczanowska-Głąbowska S, Ziegler-Krawczyk A, Szumilas K, Pawlik A. Role of janus kinase inhibitors in therapy of psoriasis. J Clin Med 2021. doi: 10.3390/jcm10194307.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้