หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Local anesthetics (benzocaine, lidocaine, prilocaine)…เตือนอีกถึงความเสี่ยงต่อภาวะ methemoglobinemia

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤษภาคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 4,152 ครั้ง
 

Methemoglobinemia เป็นภาวะที่เลือดมี methemoglobin ในปริมาณสูง ไม่สามารถขนส่งออกซิเจนได้ตามปกติ สาเหตุมาจากเหล็กใน hemoglobin ซึ่งโดยปกติอยู่ในรูป ferrous state (Fe2+) เกิดเป็น oxyhemoglobin ที่จับออกซิเจนได้ดีนั้น เกิดออกซิเดชันไปอยู่ใน ferric state (Fe3+) เกิดเป็น methemoglobin ที่ไม่จับออกซิเจน ทำให้เลือดไม่สามารถขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดังปกติ เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสารพวก oxidizing agents รวมถึงยาชาเฉพาะที่ (local anesthetics/topical anesthetics) เช่น benzocaine, lidocaine, prilocaine ทำให้เกิดภาวะ methemoglobinemia และอาการเขียวคล้ำ (cyanosis) ได้ แม้ว่าภาวะ methemoglobinemia จากการใช้ยาชาเฉพาะที่จะเกิดได้ยาก แต่ก็มีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงควรเฝ้าระวังในรายที่จำเป็นต้องใช้ยา อันตรายจากภาวะ methemoglobinemia ที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เลือดมีสภาพเป็นกรด (acidosis) เกิดการชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหากเกิดเป็นเวลานานอาจถึงขั้นระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว (cardiovascular collapse) และเสียชีวิต ความเสี่ยงต่ออันตรายมีมากขึ้นในผู้ที่มีภาวะโลหิตจางอยู่ก่อน หรือมีโรคอื่นที่ทำให้ประสิทธิภาพในการขนส่งออกซิเจนของเลือดลดลงอยู่ก่อนแล้ว

รายงานที่มีอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ป่วยที่ได้รับ lidocaine 4% gel (endobronchial lidocaine) ในช่วงที่สอดท่อช่วยการหายใจ หลังจากนั้น 2 ชั่วโมงพบว่า ภาวะออกซิเจนในเลือดน้อยกลับแย่ลง วัดค่า oxygen saturation ได้ 49% ส่วนค่า methemoglobin วัดได้ 53% (จาก CO-oximetry) ผู้ป่วยให้การตอบสนองดีต่อการรักษาด้วย methylthioninium chloride (methylene blue) 1% solution ในขนาด 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้เข้าหลอดเลือดดำ (ดูรูป) อีกรายหนึ่งเกิดภาวะ methemoglobinemia ขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยได้รับ benzocaine 20% topical spray ทางช่องปาก เพื่อทุเลาอาการเจ็บคอรุนแรงจากการใส่สายให้อาหาร (NG tube) สเปรย์ยาวันละ 4 ครั้ง พร้อมทั้งอมยาชนิดเม็ด (มี benzocaine 15 มิลลิกรัม/lozenge) ภายหลังใช้ยาชนิดสเปรย์ไปแล้ว 9 ครั้งและชนิดอมไปแล้ว 2 เม็ด ตรวจร่างกายพบภาวะ methemoglobinemia วัดค่า methemoglobin ได้ 32.4% ผู้ป่วยให้การตอบสนองดีต่อการรักษาด้วย methylene blue และตัวอย่างอีกรายหนึ่ง ผู้ป่วยเกิดภาวะ methemoglobinemia จากการได้รับ prilocaine 4% (infiltration) ขณะเข้ารับการผ่าตัดถอนฟัน วัดค่า methemoglobin ได้ 34.7% ผู้ป่วยรายนี้ตั้งครรภ์ราว 20 สัปดาห์เศษ จึงไม่อาจให้การรักษาด้วย methylene blue (เนื่องจากเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์) ผู้ป่วยให้การตอบสนองดีต่อการรักษาด้วย ascorbic acid ขนาดสูง

อ้างอิงจาก

(1) Gay HC, Amaral AP. Acquired methemoglobinemia associated with topical lidocaine administration: a case report. Drug Saf Case Rep 2018. doi: 10.1007/s40800-018-0081-4; (2) Sewell CR, Rivey MP. A case report of benzocaine-induced methemoglobinemia. J Pharm Pract 2017. doi: 10.1177/0897190017723211; (3) Faust AC, Guy E, Baby N, Ortegon A. Local anesthetic-induced methemoglobinemia during pregnancy: a case report and evaluation of treatment options. J Emerg Med 2018;54:681-4.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
methemoglobinemia methemoglobin hemoglobin ferrous state oxyhemoglobin ferric state oxidizing agents ยาชาเฉพาะที่ local anesthetics topical anesthetics benzocaine lidocaine prilocaine lidocaine 4% gel endobronchial lidocaine CO-oximet
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้