Allopurinol/lesinurad…ยาสูตรผสมสำหรับรักษาโรคเกาต์
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤษภาคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 12,869 ครั้ง
โรคเกาต์ (gout) เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่มีการสะสมผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต (monosodium urate) ในน้ำไขข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะข้อ ทำให้ข้อบวม แดง ร้อน และมีอาการปวด สาเหตุมาจากการมีกรดยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia) เรื้อรัง ยาที่ใช้รักษามีทั้งยาบรรเทาอาการปวดเฉียบพลันและลดการอักเสบ เช่น colchicine, ยาในกลุ่ม NSAIDs (nonsteroidal anti-inflammatory drugs), glucocorticoids และยาลดระดับกรดยูริกในเลือด ซึ่งมีทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างกรดยูริกโดยยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase เช่น allopurinol, febuxostat ชนิดที่ออกฤทธิ์เพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ (uricosuric drugs) เช่น probenecid, sulfinpyrazone, benzbromarone, lesinurad และชนิดที่ออกฤทธิ์ย่อยกรดยูริก เช่น pegloticase (pegylated recombinant uricase) ในผู้ป่วยโรคเกาต์การควบคุมกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในระดับที่ต้องการนั้น อาจมีการใช้ยามากกว่า 1 อย่าง เช่น การใช้ยายับยั้งการสร้างกรดยูริกร่วมกับยาเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ จึงมีตำรับยาสูตรผสม (fixed-dose combination) ออกใช้ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มียาสูตรผสมตำรับใหม่ คือ allopurinol/lesinurad ออกวางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ ในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะที่มีกรดยูริกในเลือดสูง ในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ไม่อาจควบคุมกรดยูริกให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ด้วย allopurinol เพียงอย่างเดียว ยาสูตรผสมตำรับนี้ทำในรูปยาเม็ด มี 2 ความแรง คือ lesinurad 200 มิลลิกรัม/allopurinol 300 มิลลิกรัม และ lesinurad 200 มิลลิกรัม/allopurinol 200 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ไม่แนะนำให้ใช้ในรายที่มีกรดยูริกในเลือดสูงแต่ไม่แสดงอาการ (asymptomatic hyperuricemia)
Allopurinol เป็นยาดั้งเดิมที่ใช้กันมานานกว่า 50 ปี ส่วน lesinurad มีใช้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ยาทั้งสองชนิดนี้มีการออกฤทธิ์ต่างกันดังกล่าวข้างต้น สำหรับ lesinurad ที่เพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะนั้น ออกฤทธิ์โดยขัดขวางการทำงานของ uric acid transporter ชนิด URAT1 จึงยับยั้งการดูดซึมกลับของกรดยูริกที่ไต (uric acid transporter inhibitor หรือ uric acid reabsorption inhibitor) นอกจากนี้ยังขัดขวางการทำงานของ uric acid transporter ชนิด OAT4 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีกรดยูริกในเลือดสูงที่เกิดจากยาขับปัสสาวะ (diuretic-induced hyperuricemia) ได้อีกด้วย
การที่ allopurinol/lesinurad ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้น เนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุนประสิทธิภาพของ lesinurad ที่เป็นยาเดี่ยว เมื่อให้ร่วมกับ allopurinol (เป็นการศึกษาที่ใช้สนับสนุนการขออนุมัติทะเบียนตำรับ lesinurad เมื่อเริ่มวางจำหน่าย) ประกอบกับการศึกษาด้าน bioequivalence ของตำรับยาสูตรผสมเมื่อเทียบกับตำรับยาเดี่ยวแต่ละชนิดที่ให้ร่วมกัน ในการศึกษาถึงประสิทธิภาพของ lesinurad ที่ให้ร่วมกับ allopurinol นั้น เป็นการศึกษาแบบ multicenter, randomized, double-blind, placebo-controlled trial นาน 12 เดือน ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเกาต์ที่ได้รับ allopurinol เพียงอย่างเดียว (ในขนาด 200-900 มิลลิกรัม แต่ส่วนใหญ่ได้รับขนาด 200 หรือ 300 มิลลิกรัม) แล้วไม่อาจควบคุมกรดยูริกให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ เมื่อให้ lesinurad เพิ่มเข้าไป พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ควบคุมกรดยูริกในซีรัมให้อยู่ในระดับที่ต้องการ (ต่ำกว่า 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) เพิ่มขึ้นเกือบเป็น 2 เท่า ในเดือนที่ 6 โดยค่าเฉลี่ยของยูริกในซีรัมลดลงเหลือต่ำกว่า 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ตั้งแต่เดือนแรกและคงระดับต่ำเช่นนั้นได้ตลอด 12 เดือนที่ทำการศึกษา อาการไม่พึงประสงค์อาจพบ เช่น ปวดศีรษะ ไข้หวัดใหญ่ ระดับ creatinine ในเลือดเพิ่มขึ้น โรคกรดไหลย้อน ผื่นผิวหนัง
อ้างอิงจาก
(1) Duzallo (lesinurad and allopurinol). Highlights of prescribing information. Reference ID: 4141474, revised: 08/2017. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/209203s000lbl.pdf; (2) Jones G, Panova E, Day R. Guideline development for the management of gout: role of combination therapy with a focus on lesinurad. Drug Des Devel Ther 2017;11:3077-81; (3) Haber SL, Fente G, Fenton SN, Walker EP, Weaver BM, Cano AJ, Vu K. Lesinurad: a novel agent for management of chronic gout. Ann Pharmacother 2018;52:690-6.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคเกาต์
gout
โรคข้ออักเสบ
เกลือโมโนโซเดียมยูเรต
monosodium urate
ระดับกรดยูริกในเลือดสูง
hyperuricemia
colchicine
NSAIDs
nonsteroidal anti-inflammatory drugs
glucocorticoids
ยาลดระดับกรดยูริกในเลือด
xanthine oxidase
allopurinol
febuxos