หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Baricitinib…JAK inhibitor (jakinib) ชนิดใหม่ที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน สิงหาคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 9,567 ครั้ง
 
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) เป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) ชนิดหนึ่งที่เป็นเรื้อรังและพบได้บ่อย มีสาเหตุที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน signaling proteins หลายชนิด และเอนไซม์ใน signaling pathways รวมทั้ง JAKs (Janus-associated kinases หรือ Janus kinases) ซึ่งมี 4 ชนิด ได้แก่ JAK1, JAK2, JAK3 และ tyrosine kinase 2 (TYK2) เอนไซม์เหล่านี้มีบทบาทในโรคภูมิต้านตนเองที่มีการอักเสบร่วมด้วย ซึ่งรวมถึงโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง “JAK inhibitors...เป็นมากกว่ายารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน สิงหาคม ปี 2560 ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1419) ดังนั้นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง JAKs (JAK inhibitors หรือ jakinibs) จึงมีบทบาทในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ยาในกลุ่ม jakinibs ที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่วางจำหน่ายเป็นตัวแรก คือ tofacitinib และเมื่อไม่นานมานี้ baricitinib เป็น jakinib เช่นเดียวกัน ได้รับอนุมัติเพื่อใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์แล้วในหลายประเทศ เช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศญึ่ปุน โดยใช้กับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ระดับปานกลางจนถึงรุนแรงในผู้ใหญ่ที่ใช้ยาหยุดยั้งการรุดหน้าของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (disease-modifying antirheumatic drugs หรือ DMARDs) มาแล้วอย่างน้อย 1 ชนิด แล้วให้การตอบสนองไม่เพียงพอหรือทนต่อยาไม่ได้ โดยอาจใช้ baricitinib เพียงตัวเดียวหรือใช้ร่วมกับ methotrexate

Baricitinib เป็นยาหยุดยั้งการรุดหน้าของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในกลุ่มยาเคมีสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์ตรงเป้าหมาย (targeted synthetic chemical DMARDs หรือ tsDMARDs) เช่นเดียวกับ tofacitinib ยาในกลุ่ม tsDMARDs มีโมเลกุลขนาดเล็ก (small molecules) ประมาณ 300-400 ดาลตัน (dalton) เมื่อเทียบกับยาที่เป็นชีววัตถุ (biological DMARDs) ซึ่งมีขนาดโมเลกุล 90,000-150,000 ดาลตัน ดังนั้นกลุ่ม tsDMARDs จึงอาจเรียกอย่างสั้นว่ากลุ่ม targeted small molecules ยา baricitinib ออกฤทธิ์ยับยั้ง JAK1 และ JAK 2 ได้แรงกว่า JAK3 (ประมาณ 100 เท่า) ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาเม็ด ความแรง 2 และ 4 มิลลิกรัม ขนาดยาที่แนะนำ คือ 4 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับการติดเชื้อเรื้อรังหรือเป็นๆ หายๆ หรือผู้ที่ควบคุมโรคให้สงบได้แล้วด้วยขนาดยาที่แนะนำข้างต้นแล้ว ให้รับประทานขนาด 2 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง มีการศึกษาทางคลินิกหลายการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิผลของยา โดยศึกษาในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ไม่เคยใช้ DMARDs ชนิดใดมาก่อนและผู้ที่ใช้ methotrexate หรือ DMARDs ชนิดอื่นรวมถึงยาชีววัตถุแล้วให้ผลการรักษาไม่เพียงพอ การศึกษามีทั้งการใช้ baricitinib เพียงอย่างเดียวและการใช้ร่วมกับ methotrexate ใช้เวลาศึกษานาน 24 หรือ 52 สัปดาห์ ประเมินผลการศึกษาด้วยหลายวิธี มีทั้ง ACR20 เป็น primary endpoint ในสัปดาห์ที่ 12 หรือ 24, ACR50 หรือ ACR70 เป็น secondary endpoint, physical function (HAQ-DI), radiographic progression (mTSS), low disease activity และ remission (SDAI) และอาการตึงข้อช่วงตื่นนอนตอนเช้า (morning joint stiffness) ผลการศึกษาโดยรวมพบว่า baricitinib ที่รับประทานในขนาด 2 หรือ 4 มิลลิกรัม (แล้วกรณี) วันละ 1 ครั้ง ให้ผลดีกว่ายาหลอก หรือ methotrexate หรือ adalimumab อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น คลื่นไส้ ระดับโคเลสเตอรอล (ชนิด LDL cholesterol) และ creatinine เพิ่มขึ้น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลมีจำนวนลดลง เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบนและที่อื่นซึ่งรวมถึงโรคเริม (herpes simplex) และโรคงูสวัด (herpes zoster)

อ้างอิงจาก:

(1) Markham A. Baricitinib: first global approval. Drugs 2017;77:697-704; (2) Taylor PC, Keystone EC, van der Heijde D, Weinblatt ME, del Carmen Morales L, Gonzaga JR, et al. Baricitinib versus placebo or adalimumab in rheumatoid arthritis. N Engl J Med 2017;376:652-62; (3) Baricitinib ̶ Summary of product characteristics http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Product_Information/human/004085/WC500223723.pdf; (4) Kuriya B, Cohen MD, Keystone E. Baricitinib in rheumatoid arthritis: evidence-to-date and clinical potential. Ther Adv Musculoskelet Dis 2017;9:37-44.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ rheumatoid arthritis โรคภูมิต้านตนเอง autoimmune disease signaling protein molecule JAK Janus-associated kinase Janus kinase JAK1 JAK2 JAK3 tyrosine kinase TYK2 JAK inhibitor jakinib tofacitinib baricitinib dise
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้