หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Fluoroquinolones เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด uveitis จริงหรือ?

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กันยายน ปี 2559 -- อ่านแล้ว 2,662 ครั้ง
 
ผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (uveitis) ทำให้เกิดตาแดง ระคายเคืองตา ปวดตา ตาพร่า เกิดขึ้นกับตาข้างเดียวหรือเกิดทั้งสองข้าง อาจเกิดรุนแรงจนสูญเสียการมองเห็นถาวร ควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เร็ว สาเหตุมีหลากหลาย เช่น การติดเชื้อ การบาดเจ็บ โรคภูมิต้านตนเอง หรือไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดร่วมกับการอักเสบหรือความเจ็บป่วยอื่นๆ ภายในระบบร่างกาย ดังนั้นในการศึกษาหาความสัมพันธ์ของยากับความเสี่ยงต่อการเกิดผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบจึงควรคำนึงถึงอคติจากปัจจัยกวน (confounding bias) ด้วย

Fluoroquinolones เป็นยาต้านแบคทีเรียที่ใช้กันมาก ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น norfloxacin, ciprofloxacin, levofloxacin, moxifloxacin, gemifloxacin ที่ผ่านมาอาจข้อกังวลถึงความเสี่ยงต่อการเกิดผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบจากการใช้ยาในกลุ่มนี้ เนื่องจากมีการศึกษาด้านระบาดวิทยาที่เป็น case-control study รายงานถึงยาในกลุ่มนี้ในรูปแบบรับประทาน ได้แก่ moxifloxacin และ ciprofloxacin ว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานถึงการศึกษาแบบ retrospective cohort study เพื่อหาความสัมพันธ์ของการใช้ยา fluoroquinolones ชนิดรับประทานกับความเสี่ยงต่อการเกิดผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบเทียบกับการใช้ β-lactam antibiotics โดยมีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 4,387,651 คน (จาก medical claims database) เป็นผู้ใช้ fluoroquinolones 843,854 คนและ β-lactam antibiotics 3,543,797 คน เมื่อวิเคราะห์ผลโดยคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับอายุ เชื้อชาติ และเพศแล้ว ไม่พบความเสี่ยงจากการใช้ fluoroquinolones ที่จะทำให้เกิดผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบในช่วงเวลา 30, 60 หรือ 90 วัน (hazard ratio อยู่ในช่วง 0.96-1.05; p > 0.38 สำหรับทุกปัจจัย) แต่ที่ 365 วัน ค่า hazard ratio เพิ่มเล็กน้อย (hazard ratio 1.11; p < 0.001) อย่างไรก็ตาม เมื่อดูผลเฉพาะ moxifloxacin พบค่าเพิ่มขึ้นที่ทุกช่วงเวลา (hazard ratio อยู่ในช่วง 1.47-1.75; p < 0.001 สำหรับทุกปัจจัย) เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลในกลุ่มที่มีความเจ็บป่วยภายในระบบร่างกายชนิดที่ความสัมพันธ์กับการเกิดผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (uveitis-associated systemic illnesses) พบค่าเพิ่มขึ้นที่ทุกช่วงเวลา (hazard ratio อยู่ในช่วง 1.46-1.96; p < 0.001 สำหรับทุกปัจจัย) ผู้ทำการศึกษาสรุปว่าผลจากการศึกษานี้ไม่ได้สนับสนุนถึงความสัมพันธ์ของการใช้ยา fluoroquinolones ชนิดรับประทานกับการเกิดผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ แต่พบว่าการใช้ยา fluoroquinolones ชนิดรับประทานเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ความสัมพันธ์กับการเกิดผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ

อ้างอิงจาก:

(1) Eadie B, Etminan M, Mikelberg FS. Risk for uveitis with oral moxifloxacin: a comparative safety study. JAMA Ophthalmol 2015;133:81-4; (2) Sandhu HS, Brucker AJ, Ma L, VanderBeek BL. Oral fluoroquinolones and the risk of uveitis. JAMA Ophthalmol 2016;134:38-43; (3) Forooghian F. Controversy surrounding the proposed ocular adverse events of fluoroquinolones. JAMA Ophthalmol 2016;134:43-4.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
uveitis confounding bias fluoroquinolone norfloxacin ciprofloxacin levofloxacin moxifloxacin gemifloxacin case-control study retrospective cohort study β-lactam antibiotic medical claims database β-lactam hazard ratio uveitis-
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้