Multiple sclerosis (MS) เป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่งที่มีการทำลาย myelin รอบ axon โดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน (immune cells) เกิดขึ้นที่ระบบประสาทส่วนกลาง มียาหลายอย่างที่นำมาใช้รักษาโรคนี้ ยาที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาจะออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับการปรับระบบภูมิคุ้มกัน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเรื่อง “ยารักษา multiple sclerosis: update” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กันยายน ปี 2559) ขณะนี้มียาอีกมากมายที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อนำมาใช้รักษาโรคนี้
Interleukin-2 (IL-2) เป็นไซโตไคน์ (cytokine) มีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันโดยควบคุมการเพิ่มจำนวนและการทำหน้าที่ของ T-cells ถือเป็น lymphocyte growth factor ชนิดหนึ่ง เมื่อจับกับตัวรับ (IL-2 receptor; IL-2R) จะส่งผลให้เกิดทั้ง upregulation ของ proinflammatory response และการดำรงดุลของระบบภูมิคุ้มกัน (immune homeostasis) สำหรับ IL-2R บนเซลล์มีทั้งชนิด heterotrimer (high-affinity receptor) ที่ประกอบด้วย CD25 ซึ่งเป็น transmembrane protein ส่วนที่เป็น alpha chain ของ IL-2R (IL-2Rα) อยู่ร่วมกับ CD122 (beta chain ของ IL-2 receptor; IL-2Rß) และ CD132 (gamma chain ของ IL-2 receptor; IL-2Rγ) เป็นตัวรับที่ IL-2 ชอบจับมาก และชนิด heterodimer (intermediate-affinity receptor) ที่มีเฉพาะ CD122 และ CD132 อยู่ร่วมกัน IL-2 มีความชอบในการจับกับตัวรับชนิดนี้ต่ำกว่าชนิดแรก ไม่พบบทบาทของ CD25 ต่อ signaling function ใดๆ ในระบบภูมิคุ้มกัน แต่ช่วยทำให้ IL-2R มีคุณสมบัติที่ IL-2 ชอบจับมากขึ้น ดังนั้น CD25 จึงช่วยให้ IL-2 ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น พบ CD25 (ทำให้ IL-2R ที่พบเป็นชนิด heterotrimer) บนเซลล์หลายชนิดในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น activated T cells, activated B cells, regulatory T cells, thymocytes, myeloid precursors และยังพบได้ที่ oligodendrocytes ซึ่งเป็น glial cells ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง myelin sheath ส่วนตัวรับชนิด heterodimer พบที่ T cells ระยะพัก (resting T cells), B cells ระยะพัก (resting B cells), cytotoxic immunoregulatory CD56bright NK cells เป็นต้น
การเกิดโรค MS ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการเสียภาวะดำรงดุลของระบบภูมิคุ้มกัน โดยคาดว่า IL-2/IL-2R และเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกันมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคนี้ด้วย (ดูรูป) ในผู้ป่วยโรค MS พบว่าช่วงที่เกิดอาการจะมีการเพิ่มขี้นของระดับ soluble CD25 ซึ่งเป็น marker ชนิดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของ IL-2 ที่กระตุ้น T lymphocyte proliferation และระดับที่เพิ่มขึ้นนี้ยังมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค MS ด้วย การที่ CD25 ทำให้เกิดความแตกต่างกันของ IL-2R การคิดค้นยาที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อ CD25 จึงเป็นการขัดขวางการออกฤทธิ์ของ IL-2 ผ่านตัวรับชนิด heterotrimer ในขณะที่ IL-2 ยังออกฤทธิ์ผ่านตัวรับชนิด heterodimer ได้ เมื่อเร็วๆ นี้มียารักษา MS ที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อ CD25 ออกวางจำหน่ายคือ daclizumab ยานี้มีจำหน่ายอยู่แล้วในข้อบ่งใช้อื่น คือใช้เป็นยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) สำหรับป้องกันการปฏิเสธเนื้อเยื่อไตที่ปลูกถ่ายโดยใช้ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่นได้แก่ cyclosporine และ corticosteroid
อ้างอิงจาก:
(1) Cohan S. Therapeutic efficacy of monthly subcutaneous injection of daclizumab in relapsing multiple sclerosis. Biologics 2016;10:119-38; (2) Koriem K. Multiple sclerosis: new insights and trends. Asian Pac J Trop Biomed 2016;6:429-40; (3) D’Amico E, Messina S, Caserta C, Patti F. A critical appraisal of daclizumab use as emerging therapy in multiple sclerosis. Expert Opin Drug Saf 2015;14:1157-68.