Multiple sclerosis (MS) เป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่งที่มีการทำลาย myelin รอบ axon (demyelinating disease) โดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน (immune cells) เกิดขึ้นที่ระบบประสาทส่วนกลาง (ดูรูป) ทำให้เกิดภาวะอักเสบเรื้อรังของระบบประสาทส่วนกลางทั้งในสมองและไขสันหลัง รบกวนการสื่อสารระหว่างสมองกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเสียความสามารถทางระบบประสาท (neurological disability) ในคนหนุ่มสาว เริ่มต้นมีอาการช่วงอายุ 20-40 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า แบ่งเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ relapsing-remitting MS, primary-progressive MS, secondary-progressive MS และ progressive-relapsing MS รูปแบบแรกพบได้บ่อยที่สุดโดยเกิดอาการเป็นช่วงๆ สลับกับช่วงปลอดจากอาการ การฟื้นตัวในระยะแรกเกิดได้สมบูรณ์ แต่ในระยะต่อมาความผิดปกติจะคงอยู่และมากขึ้นเรื่อยๆ จนระบบประสาทเสียความสามารถในการทำหน้าที่ ยาที่นำมาใช้รักษา MS นั้น มีทั้งยาที่ออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันโดยทางตรงหรือทางอ้อมและยาที่ช่วยทุเลาอาการของโรค ยาที่ออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันมีหลายกลุ่ม มีทั้งยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressives) ที่ใช้กับโรคต่างๆ เช่น corticosteroids (prednisone, methylprednisolone) และยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษา MS ซึ่งยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษา MS นั้นส่วนใหญ่ใช้กับ relapsing-remitting MS ได้แก่ interferon-beta (IFN-ß), glatiramer acetate, mitoxantrone, fingolimod, teriflunomide, dimethyl fumarate, natalizumab, alemtuzumab และ daclizumab (ยานี้เพิ่งได้รับข้อบ่งใช้ในการรักษา MS เมื่อเร็วๆ นี้) สำหรับ mitoxantrone ซึ่งเป็นยาต้านมะเร็ง มีอันตรายค่อนข้างมากโดยเป็นพิษต่อหัวใจจึงใช้ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่อาจใช้ยาอื่นหรือใช้ยาอื่นแล้วให้ผลไม่เพียงพอ ยานี้ยังใช้กับ progressive MS ด้วยแต่ประโยชน์ที่ได้ยังไม่ชัดเจน ปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่ใช้ได้ผลในการรักษา progressive MS อย่างชัดเจน การออกฤทธิ์ของยารักษา MS ที่กล่าวข้างต้นเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เช่น การลดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบประสาทส่วนกลางทำให้ลดการอักเสบ การป้องกันไม่ให้ lymphocytes เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง (ทำให้ระบบประสาทไม่เกิดการอักเสบและไม่ถูกทำลาย) ด้วยวิธีการแตกต่างกันรวมถึงการทำลายเซลล์โดยเกิด antibody-dependent cellular cytolysis การปกป้องเส้นประสาทไม่ให้ถูกทำลายรวมถึงการกระตุ้น chemical pathway ในร่างกายที่จะมีผลปกป้องเซลล์ประสาทจากการถูกทำลายและเกิดการอักเสบ นอกจากนี้ยังมียาที่อยู่ระหว่างการศึกษามากมาย เช่น ocrelizumab ซึ่งมีเป้าหมายการออกฤทธิ์ที่ CD20 บน B-cells, laquinimod เป็น immunomodulator ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและอาจมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทด้วย ในบางประเทศยานี้ได้รับอนุมัติแล้วให้ใช้สำหรับรักษา relapsing-remitting MS, ozanimod ออกฤทธิ์ต่อ sphingosine 1-phosphate (คล้ายกับ fingolimod) โดยออกฤทธิ์ที่ตัวรับของ sphingosine 1-phosphate ชนิด S1P-1 และ S1P-5 ลดการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวมาสู่บริเวณอักเสบ ส่วนยาอื่นที่ออกฤทธิ์เป็น S1P receptor modulator ที่อยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิก ได้แก่ siponimod และ ponesimod, ยาต้าน LINGO-1 (anti-LINGO-1) ซึ่ง LINGO-1 เป็น neurologic protein ที่ขัดขวางพัฒนาการของ myelin จึงคาดว่า anti-LINGO-1 จะออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้าง myelin sheath เพื่อช่วยให้การนำสัญญาณประสาทกลับคืนมา นอกจากที่กล่าวมายังมียาอื่นอีกหลายชนิดที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้รักษา MS
อ้างอิงจาก:
(1) Koriem K. Multiple sclerosis: new insights and trends. Asian Pac J Trop Biomed 2016;6:429-40; (2) Torkildsen Ø, Myhr KM, Bø L. Disease-modifying treatments for multiple sclerosis - a review of approved medications. Eur J Neurol 2015;23(Suppl 1):18-27; (3) Ziemssen T, Derfuss T, de Stefano N, Giovannoni G, Palavra F, Tomic D, et al. Optimizing treatment success in multiple sclerosis. J Neurol 2016;263:1053-65.