หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

TNF-α inhibitors ผ่านรกได้…ผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของทารกแรกคลอด

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มีนาคม ปี 2559 -- อ่านแล้ว 3,961 ครั้ง
 
Tumour necrosis factor-alpha (TNF-α) inhibitors เป็นยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) และอาจใช้กับโรคอื่นที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) ที่มีการอักเสบร่วมด้วย ยาในกลุ่มนี้ที่มีใช้แล้ว เช่น etanercept, infliximab, adalimumab, certolizumab, golimumab แม้ว่า TNF-α inhibitors จะจัดอยู่ใน category B ของ pregnancy risk ตามการจัดของ US FDA ที่ระบุว่าไม่พบความเป็นพิษต่อมารดาและทารกในครรภ์ แต่ TNF-α inhibitors ผ่านรกได้โดยเฉพาะยาที่เป็น IgG antibody การใช้ยาหลังไตรมาสที่ 2 จะทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการสัมผัสยาและอาจมีผลกระทบมาถึงทารกหลังคลอดได้ ดังจะเห็นได้จากรายงานที่มีมาเรื่อยๆ ถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทารกแรกคลอดที่มารดาได้รับ TNF-α inhibitors ขณะตั้งครรภ์ เป็นเหตุให้เกิดความกังวลว่าการสัมผ้สกับยาในกลุ่มนี้ของทารกในครรภ์แม้ในระดับที่ไม่เกิดอันตรายแต่อาจส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันได้

เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานการศึกษาแบบ prospective study ในทารกที่มารดา (n=80) เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel diseases) ที่ได้รับ TNF-α inhibitors ขณะตั้งครรภ์ โดยในจำนวนนี้มี 39 คนที่ได้รับ thiopurines ร่วมด้วย วัดระดับ adalimumab (n=36) และ infliximab (n=44) ในเลือดมารดาและเลือดจากสายสะดือ (umbilical cord blood) ของทารกขณะคลอด เพื่อเปรียบเทียบระดับยาในเลือดมารดาและทารก รวมถึงศึกษาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทารกช่วงปีแรกหลังคลอด พบว่าอัตราส่วนของระดับยาในทารกขณะคลอดเทียบกับในมารดากรณี adalimumab มีค่ากลางเท่ากับ 1.21 (95% confidence interval [CI] เท่ากับ 0.94-1.49) ส่วน infliximab มีค่ากลางเท่ากับ 1.97 (95% CI เท่ากับ 1.50-2.43) เมื่อติดตามวัดระดับยาในทารกทุก 3 เดือน พบว่าหลัง 12 เดือนตรวจไม่พบยาทั้งสองในตัวทารก ส่วนความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพบว่าเพิ่มขึ้น (95% CI เท่ากับ 1.09-6.78) และหากมารดาได้รับ TNF-α inhibitors ร่วมกับ thiopurines ความเสี่ยงจะเป็น 2.7 เท่าเทียบกับการได้รับ TNF-α inhibitors โดยลำพัง การติดเชื้อที่พบเป็นแบคทีเรีย 5% และไวรัส 20% แต่ไม่รุนแรง ส่วนข้อมูลของยาอื่น เช่น etanercept ข้อมูลที่ได้จากมารดาที่ใช้ etanercept จำนวน 3 ราย พบระดับยาในเลือดจากสายสะดือทารกขณะคลอดอยู่ในช่วง 3-32% ของระดับในมารดา ส่วนข้อมูลของ certolizumab pegol ในทารกแรกคลอด 12 คน พบมีระดับยาอย่างน้อย 75% ของระดับในพลาสมามารดา ด้วยเหตุนี้การใช้ TNF-α inhibitors จึงควรคำนึงด้วยว่ายาผ่านรกได้และอาจส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของทารกแรกคลอด ดังนั้นมารดาขณะตั้งครรภ์ควรใช้ยาเฉพาะกรณีที่จำเป็นและที่เห็นประโยชน์จากยาอย่างชัดเจน พร้อมกันนี้ควรหลีกเลี่ยงการให้ live vaccine แก่ทารกแรกคลอดที่มารดาใช้ TNF-α inhibitors ขณะตั้งครรภ์ ควรรอจนกว่าทารกจะอายุครบ 1 ปี

อ้างอิงจาก:

(1) Julsgaard M, Christensen LA, Gibson PR, Gearry RB, Fallingborg J, Hvas CL, et al. Concentrations of adalimumab and infliximab in mothers and newborns, and effects on infection. Gastroenterology 2016, Apr 7. pii: S0016-5085(16)30054-3. doi: 10.1053/j.gastro.2016.04.002; (2) Vela P. Pregnancy in chronic arthritis: only a matter of planning. EMJ Rheumatol 2015;2:66-74; (3) Etanercept, infliximab, adalimumab, certolizumab pegol and golimumab. The Internet Drug Index. http://www.rxlist.com.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
tumour necrosis factor-alpha TNF-α inhibitor rheumatoid arthritis autoimmune disease etanercept infliximab adalimumab certolizumab golimumab category B pregnancy risk IgG antibody prospective study umbilical cord blood certolizumab
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้