หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Live attenuated vaccine…อย่าลืมว่าไม่ควรให้แก่ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกด

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน เมษายน ปี 2559 -- อ่านแล้ว 5,297 ครั้ง
 
วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (live attenuated vaccine) แม้เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่อ่อนฤทธิ์จนไม่สามารถก่อโรคได้ แต่ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกดไม่ว่าจะมีสาเหตุจากการใช้ยาหรือจากโรค อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากวัคซีนที่ให้ได้ แม้จะเป็นที่ทราบกันว่าไม่ควรให้ live attenuated vaccine แก่ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกด แต่สิ่งที่ปัญหามักเป็นเรื่องที่ผู้ให้ไม่ทราบว่าผู้รับวัคซีนมีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกด เกี่ยวกับเรื่องนี้ในบางประเทศกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง เช่น สหราชอาณาจักร มีเหตุการณ์ที่ทารกแรกเกิดได้รับวัคซีนบีซีจี (BCG vaccine) เพื่อป้องกันวัณโรคแล้วเกิดติดเชื้อวัณโรคและเสียชีวิต โดยช่วงที่ฉีดวัคซีนนั้นเป็นไปได้ว่าผู้ฉีดไม่ทราบว่าทารกมีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกดที่เป็นผลมาจากมารดาใช้ยา TNF-α inhibitor ขณะตั้งครรภ์ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง “TNF-α inhibitors ผ่านรกได้…ผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของทารกแรกคลอด” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มีนาคม ปี 2559) นอกจากนี้มีผู้สูงอายุที่ได้รับ shingles (zoster) vaccine แล้วเกิดการติดเชื้อ varicella zoster รุนแรงจนเสียชีวิต จากการศึกษาประวัติความเจ็บป่วยและการใช้ยาคาดว่าผู้ป่วยอาจอยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันถูกกดที่อาจเป็นผลมาจากยากดภูมิคุ้มกันเนื่องจากมีการปลูกถ่ายอวัยวะหรือบางรายอาจเกิดจากความเจ็บป่วย เช่น มีภาวะ lymphoproliferative disorders ทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องออกมาย้ำเตือนและให้ข้อแนะนำดังนี้

1. ไม่ควรให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นแก่ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกด สำหรับผู้ที่พร่องภูมิคุ้มกันเพียงเล็กน้อยอาจไม่ห้ามที่จะรับวัคซีน ทั้งนี้ให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์วัคซีนแต่ละชนิด (summary of product characteristics) ซึ่งจะมีข้อแนะนำไว้

2. ผู้ให้วัคซีนควรต้องคุ้นเคยกับบ้อห้ามใช้และคำเตือนพิเศษของวัคซีนแต่ละชนิดก่อนการให้วัคซีน

3. ก่อนการให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็น บุคลากรทางการแพทย์ต้องแยกให้ได้ว่าผู้ใดมีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกด

4. ยาที่มีผลกดภูมิคุ้มกันบางชนิดผ่านรกได้ซึ่งอาจส่งผลกดภูมิคุ้มกันทารกแรกเกิด และยาบางชนิดถูกขับออกทางน้ำนมได้ซึ่งอาจส่งผลกดภูมิคุ้มกันทารกที่ดื่มนมมารดา จึงควรพิจารณาเลื่อนการให้วัคซีนไปก่อน

5. แพทย์ผู้รับผิดชอบในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกดอาจร่วมให้ความเห็นถึงความเหมาะสมก่อนผู้ป่วยได้รับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น

6. หากผู้ให้วัคซีนไม่มั่นใจว่าผู้ที่จะรับวัคซีนชนิดเชื้อเป็นนั้นมีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกดหรือไม่ ควรเลื่อนการให้ไปก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญคนอื่นและอาจรวมถึงความเห็นจากนักวิทยาภูมิคุ้มกัน (immunologist)

7. เมื่อผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกดไม่อาจได้รับวัคซีน ผู้ที่ใกล้ชิดควรได้รับวัคซีนครบตามความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงในการนำโรคติดต่อไปสู่ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันถูกกด

อ้างอิงจาก:

(1) Live attenuated vaccines: avoid use in those who are clinically immunosuppressed. Drug Safety Update volume 9 issue 9 April 2016: 7; (2) De Sanctis JB, Garmendia JV. Vaccine therapy update for pregnant, immunocompromised, and chronic diseases patients. Recent Pat Inflamm Allergy Drug Discov 2015;9:46-53; (3) Costa E, Buxton J, Brown J, Templeton KE, Breuer J, Johannessen I. Fatal disseminated varicella zoster infection following zoster vaccination in an immunocompromised patient. BMJ Case Rep 2016;2016. pii: bcr2015212688. doi: 10.1136/bcr-2015-212688.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
live attenuated vaccine BCG vaccine TNF-α inhibitor shingles (zoster) vaccine varicella zoster lymphoproliferative disorder summary of product characteristics immunologist
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้