หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Paracetamol…เตือนกันอีกถึงความเสี่ยงต่อปฏิกิริยาทางผิวหนังอย่างรุนแรง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน ธันวาคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 2,845 ครั้ง
 
เป็นที่ทราบกันว่า paracetamol อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังที่รุนแรง (serious skin reactions) ได้แก่ Stevens-Johnson syndrome และ toxic epidermal necrolysis แม้จะพบได้น้อย (rare) แต่มีความรุนแรงและมีอันตรายสูงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ที่เกิดความผิดปกติดังกล่าวต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ปฏิกิริยาทางผิวหนังที่เกิดขึ้นมักเริ่มด้วยอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ (flu-like symptoms) ตามด้วยเกิดความผิดปกติขึ้นที่ผิวหนัง ได้แก่ ผื่น (rash) ตุ่มพอง (blister) และมีการทำลายผิวหนัง การฟื้นตัวใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และอาจเกิดความผิดปกติแทรกซ้อนได้ เช่น ตาบอด หรือมีการทำลายอวัยวะภายใน นอกจากปฏิกิริยาทางผิวหนังที่รุนแรงดังกล่าวข้างต้นแล้ว paracetamol ยังทำให้เกิด generalized exanthematous pustulosis แบบเฉียบพลันได้ แต่ทุเลาได้เองภายใน 2 สัปดาห์เมื่อหยุดยา องค์กร FDA ในหลายประเทศได้แนะนำให้เพิ่มคำเตือนในเรื่องความเสี่ยงต่อปฏิกิริยาทางผิวหนังอย่างรุนแรงดังกล่าวข้างต้นลงในเอกสารข้อมูลผลิตภัณฑ์แล้ว

ข้อมูลที่สนับสนุนความเสี่ยงต่อปฏิกิริยาทางผิวหนังอย่างรุนแรงจากการใช้ paracetamol ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตช่วงปี 1969 ถึง 2012 ในสหรัฐอเมริกาซึ่งพบปฏิกิริยาทางผิวหนังที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ acetaminophen (paracetamol) จำนวน 107 ราย ในจำนวนนี้มี 67 รายที่ต้องนอนในโรงพยาบาลและเสียชีวิต 12 ราย และเมื่อราวกลางปี 2014 นี้มีข้อมูลจาก Centre for Adverse Reactions Monitoring (CARM) ของประเทศนิวซีแลนด์แจ้งว่าได้รับรายงานเกี่ยวกับเกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังที่รุนแรงจากการใช้ paracetamol จำนวน 4 รายงาน แบ่งเป็น erythema multiforme 2 รายงาน toxic epidermal necrolysis 1 รายงาน และ Stevens Johnson syndrome 1 รายงาน แม้ว่ายาในกลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังได้ แต่ไม่น่าจะเกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาข้ามกลุ่มกัน (cross-sensitivity) กับ paracetamol การมีคำเตือนในเรื่องความเสี่ยงต่อปฏิกิริยาทางผิวหนังอย่างรุนแรงจากการใช้ paracetamol ดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ประสงค์ที่จะให้ผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์มีความกังวลหรือหันไปใช้ยาอื่น แต่ต้องการให้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อจะได้เอาใจใส่และได้รับการรักษาอย่างทันเวลา ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันทีหากรับประทาน paracetamol แล้วเกิดผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ผิวหนังหลุดลอก เกิดแผลเปื่อยในปาก หรือเกิดความผิดปกติใดๆ ที่แสดงถึงการแพ้ยาหรือเกิดปฏิกิริยาภูมิไวเกิน (hypersensitivity) พร้อมทั้งหยุดใช้ยาทันที

อ้างอิงจาก:

(1) FDA warns of rare but serious skin reactions with the pain reliever/fever reducer acetaminophen. FDA Drug Safety Communication 1 August 2013. www.fda.gov/drugs/drugsafety/ucm363041.htm; (2) Paracetamol: rare but severe skin reactions. WHO Drug Information 2014;28(3):327; (3) Medsafe. Paracetamol and serious skin reactions. Prescriber Update 2014;35(2):1-2, 6 June 2014.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
paracetamol serious skin reactions Stevens-Johnson syndrome toxic epidermal necrolysis flu-like symptom rash blister generalized exanthematous pustulosis acetaminophen Centre for Adverse Reactions Monitoring CARM non-steroidal anti-inflamm
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้