หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Epoetin กับความเสี่ยงต่อการเกิด pure red cell aplasia และมาตรการลดความเสี่ยง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มีนาคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 28,838 ครั้ง
 
Pure red cell aplasia (PRCA) เป็นภาวะที่ไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือดแดง (โดยไม่รบกวนต่อเม็ดเลือดขาว) ทำให้เกิดโลหิตจางอย่างรุนแรงและเสียชีวิตได้ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคภูมิต้านตนเอง การติดเชื้อ การใช้ยาบางชนิด หรือไม่ทราบเหตุ

Epoetin (EPO) เป็นไกลโคโปรตีนที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้เป็นยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (erythropoiesis-stimulating agent) ใช้รักษาภาวะโลหิตจางจากโรคไตเรื้อรังที่ใช้การรักษาอย่างอื่นไม่ได้ผล การเกิด PRCA จากยา epoetin เคยมีรายงานมาตั้งแต่ปี 2540 และในปี 2554 มีรายงานการเกิด PRCA ในประเทศไทยที่เกิดจาก epoetin ที่เป็นยา biosimilar และมีข้อมูลว่าพบ PRCA ในประเทศไทยมากกว่าในต่างประเทศหลายเท่า อาจเนื่องจากเป็นประเทศที่มีการใช้ epoetin ชนิด biosimilar เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม PRCA พบในผู้ที่ใช้ยาต้นแบบได้เช่นกัน การเกิด PRCA จากการใช้ epoetin นี้เกี่ยวข้องกับการที่ยาไปชักนำให้เกิดแอนติบอดีขึ้น (antibody-mediated PRCA) และมีความสัมพันธ์กับการใช้ epoetin แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง อาจเกิดภายหลังจากเริ่มใช้ยามานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

ในหลายประเทศได้มีมาตรการที่จะลดความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว เช่น หลีกเลี่ยงการให้ยาแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนังเปลี่ยนมาให้ทางหลอดเลือดดำ ใช้ยาตามข้อบ่งใช้อย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้รายงานการเกิด PRCA ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น จากการที่พบ PRCA มากกว่าในต่างประเทศหลายเท่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยจึงอาจเป็นต้นแบบของการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการลดความเสี่ยงต่อการเกิด PRCA จากยา epoetin ซึ่งขณะนี้ได้มีการวางแนวทางใหม่ในการประเมินการขึ้นทะเบียนตำรับยา epoetin พร้อมทั้งดำเนินการทบทวนทะเบียนตำรับยา epoetin ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว โดยให้มีการจัดส่งข้อมูลต่างๆ มาใหม่ ซึ่งนอกจากเอกสารที่เป็นข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับยานั้นแล้ว ทางผู้ขออนุญาตยังต้องทำแผนจัดการความเสี่ยง (risk management plan) ของยามาด้วย โดยได้วางกรอบเวลาในการดำเนินการทบทวนทะเบียนตำรับไว้

อ้างอิงจาก:

(1) Schick P. Pure red cell aplasia. http://emedicine.medscape.com/article/205695-overview; (2) Wish JB. Erythropoiesis-stimulating agents and pure red-cell aplasia: you can’t fool Mother Nature. Kidney Int 2011;80:11-3; (3) HSA safety alert, 29 August 2013: Increase in antibody-mediated pure red cell aplasia (PRCA) cases with subcutaneous administration of Eprex® (epoetin alfa) in Singapore. http://www.hsa.gov.sg/publish/hsaportal/en/health_products_regulation/safety_information/product_safety_alerts/Safety_Alerts_2013/increase_in_antibody-mediated.html; (4) ข้อมูลจากสำนักยา. http://drug.fda.moph.go.th/zone_admin/admin.asp


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
pure red cell aplasia PRCA epoetin EPO erythropoiesis-stimulating agent biosimilar antibody-mediated PRCA risk management plan
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้