หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Golimumab จากบทบาทในโรคข้อ…ขยายมาสู่โรคทางเดินอาหาร

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน มกราคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 4,783 ครั้ง
 
Golimumab เป็นยาประเภท monoclonal antibody ที่จับกับ tumor necrosis factor (TNF)-alpha จึงยับยั้งฤทธิ์ TNF-alpha ซึ่ง TNF-alpha มีบทบาทในพยาธิสรีรภาพที่เกี่ยวกับการตอบสนองด้านการอักเสบและด้านอิมมูนที่ผิดปกติ จึงเกี่ยวข้องกับการก่อโรคต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis), โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis), โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (ankylosing spondylitis), โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease; IBD) ทั้งชนิด Crohn's disease และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล (ulcerative colitis) เป็นต้น ยาต้าน TNF-alpha ชนิดต่างๆ ที่มีจำหน่าย เช่น etanercept, infliximab, adalimumab มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคข้ออักเสบที่เกี่ยวข้องกับอิมมูนผิดปกติและยาบางตัว เช่น infliximab, adalimumab มีการใช้ในโรคลำไส้อักเสบทั้งสองชนิดแล้ว ซึ่ง golimumab จะเป็นยาต้าน TNF-alpha อีกตัวหนึ่งที่ขยายข้อบ่งใช้จากเดิมที่ใช้เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้ออักเสบในโรคสะเก็ดเงิน (psoriatic arthritis) และโรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังขนาด 50 มิลลิกรัม เดือนละ 1 ครั้ง โดยเพิ่มเติมข้อบ่งใช้กับโรคลำไส้อักเสบซึ่งในเบื้องต้นใช้เฉพาะกรณีของลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลที่มีความรุนแรงในระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก ซึ่งผู้ป่วยต้องพึ่งพา corticosteroids หรือผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเหล่านี้หรือทนต่อยาเหล่านี้ไม่ได้ ได้แก่ aminosalicylates ชนิดรับประทาน, corticosteroids ชนิดรับประทาน, azathioprine, 6-mercaptopurine (6-MP) ขนาดยา golimumab ที่แนะนำคือ 200 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังในสัปดาห์ที่ 0 แล้วตามด้วย 100 มิลลิกรัมในสัปดาห์ที่ 2 หลังจากนั้นให้ฉีด 100 มิลลิกรัมทุกๆ 4 สัปดาห์ ซึ่งขนาดยาและวิธีการให้ยาดังกล่าวได้มาจากผลการศึกษาทางคลินิกที่กล่าวข้างล่างนี้

การที่ golimumab ได้รับอนุมัติให้นำมาใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลแล้วในบางประเทศเนื่องจากมีข้อมูลทางคลินิกที่สนับสนุนจำนวน 2 การศึกษา (Trial UC-1 และ Trial UC-2) ที่เป็นแบบ multi-center, randomized, double-blind, placebo-controlled trials ในผู้ป่วยที่อายุกว่า 18 ปี ซึ่งต้องพึ่งพา corticosteroids หรือผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษาอยู่เดิมหรือทนต่อยาเหล่านั้นไม่ได้ ใน Trial UC-1 มีผู้ป่วย 771 คน เป็นการใช้ยาระยะสั้นเพื่อหาขนาดยาและช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้ยา พบว่าขนาด 200 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังในสัปดาห์ที่ 0 แล้วตามด้วย 100 มิลลิกรัมในสัปดาห์ที่ 2 ให้ผลดีกว่ายาหลอก การเพิ่มขนาดยาสูงขึ้นไม่เพิ่มประสิทธิผล ส่วน Trial UC-2 มีผู้ป่วย 463 คน เป็นการศึกษาต่อเนื่องในผู้ที่ตอบสนองต่อยานี้และทนต่อการใช้ยาได้เพื่อดูประสิทธิผลระยะยาวโดยใช้ขนาดยาลดลงและเว้นระยะการให้ยาเป็นทุก 4 สัปดาห์ ศึกษานาน 54 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่ายาในขนาด 100 มิลลิกรัมให้ประสิทธิผลดีกว่ายาหลอกเมื่อประเมินผลสัปดาห์ที่ 30 และ 54 อีกทั้งประสิทธิผลของยาไม่ลดลงตลอดช่วง 54 สัปดาห์ ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบ เช่น การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract infection), คอหอยส่วนจมูกอักเสบ (nasopharyngitis) เป็นต้น

อ้างอิงจาก:

(1) http://www.centerwatch.com/drug-information/fda-approvals/; (2) Sandborn WJ, Feagan BG, Marano C, et al. subcutaneous golimumab induces clinical response and remission in patients with moderate-to-severe ulcerative colitis. Gastroenterology 2013. pii: S0016-5085(13)00846-9; (3) http://www.rxlist.com/simponi-drug.htm


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
golimumab monoclonal antibody tumor necrosis factor TNF-alpha rheumatoid arthritis psoriasis psoriatic arthritis ankylosing spondylitis inflammatory bowel disease IBD Crohn's disease ulcerative colitis etanercept infliximab adalimum
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้