หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาแก้ไอช่วยบรรเทาอาการไอได้จริงหรือ?

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤษภาคม ปี 2556 -- อ่านแล้ว 19,211 ครั้ง
 
ยาแก้ไอที่มีใช้กันทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม ได้แก่ 1. ยาแก้ไอที่กดการไอที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น dextromethorphan และ codeine 2. ยาแก้ไอที่ออกฤทธิ์บริเณทางเดินหายใจ เช่น benzonatate และ 3. ยาละลายเสมหะ เช่น guaifenesin นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบรรเทาอาการระคายคอ เช่น เมนทอล และ น้ำผึ้ง



ถึงแม้ว่ายาและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะถูกใช้อย่างแพร่หลาย แต่ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพยังจำกัดอยู่เพียงไม่กี่การศึกษาเท่านั้น เช่น



การศึกษาการใช้ Dextromethorphan ในเด็ก เมื่อเปรียบเทียบการใช้ Dextromethorphan กับการใช้ยาหลอก ไม่พบความแตกต่างทางคลินิกในการบรรเทาอาการไอ รวมถึงการศึกษาที่เพิ่มขนาดยาก็ไม่พบความแตกต่างทางคลินิกเช่นกัน และการศึกษาในผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ก็ไม่พบประโยชน์ของการรับประทาน dextromethorphan หรือ codeine

ส่วนการศึกษาการใช้ Benzonatate พบว่าช่วยบรรเทาอาการไอได้เฉพาะกลุ่มคนไข้มะเร็งเท่านั้น การใช้ Benzonatate จึงไม่เป็นตัวเลือกที่ดีนักสำหรับบรรเทาอาการไอทั่วๆไป ในขณะที่การศึกษาการใช้ guaifenesin บรรเทาอาการไอที่มีเสมหะ พบว่าสามารถลดปริมาณเสมหะ และความเหนียวของเสมหะได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเมนทอล ชนิดพ่นแก้ไอ ช่วยลดอาการระคายคอ โดยให้ความรู้สึกเย็น จากการศึกษาใช้เมนทอลชนิดพ่นในคนไข้พบว่า มีประสิทธิภาพช่วยลดอาการระคายคอได้ ในขณะที่เมนทอลในรูปแบบอื่น ได้แก่ ยาอม ขี้ผึ้ง และ ครีม ยังไม่มีการศึกษาด้านประสิทธิภาพ



นอกจากการใช้ยาแก้ไอแล้วยังมี น้ำผึ้ง ที่ช่วยบรรเทาอาการไอได้ การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มพบว่าการใช้น้ำผึ้งสามารถบรรเทาอาการไอได้ดีกว่าการใช้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ แต่ The American Academy of Pediatrics ไม่แนะนำให้ใช้น้ำผึ้งบรรเทาอาการไอในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโบทูลินัม (botulinum toxin) ได้มาก



จากข้อมูลการศึกษาการใช้ยาแก้ไอในปัจจุบันที่มีอย่างจำกัดและยังไม่มีความชัดเจนในด้านประสิทธิภาพ จึงควรแนะนำให้คนไข้ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อาการไอจะสามารถหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ นอกจากมีอาการไอร่วมกับเสมหะข้นหนืดสีเขียวเหลือง หรือมีเลือดปน มีไข้สูง เหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำหนักตัวลดอย่างไม่มีสาเหตุ หรืออาการไอรุนแรงขึ้นหลังจากได้รับการรักษาไปแล้ว 1 สัปดาห์ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการของโรคติดเชื้อรุนแรงของระบบทางเดินหายใจ ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที

 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้