โรคปวดศีรษะไมเกรน (migraine headaches) เป็นโรคเรื้อรังทางระบบประสาท ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจนนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ลดลง พบว่าในประเทศไทยมีความชุกของผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนอยู่ที่ 29.1% โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบมากในช่วงอายุ 30-39 ปี สำหรับสาเหตุการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองหรือภาวะไวต่อการรับความรู้สึกเจ็บปวดของระบบประสาท โดยปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนมีมากมายขึ้นกับแต่ละบุคคล เช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงที่มีประจำเดือน อากาศเปลี่ยนแปลง การนอนหลับที่มากหรือน้อยเกินไป[1-5]
ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนมักจะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ปวดแบบตุบ ๆ หรือปวดตามชีพจร มีระยะเวลาปวดแต่ละครั้ง 4-72 ชั่วโมงเมื่อไม่ได้รับการรักษา และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย รวมถึงมักจะปวดมากขึ้นเมื่ออยู่ในที่แสงจ้า (photophobia) หรือมีเสียงดัง (phonophobia) ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีอาการดังกล่าวครบทุกอาการ
ผู้ป่วยควรได้รับยาแก้ปวดไมเกรนให้เร็วที่สุดเมื่อมีอาการปวดเพื่อให้หายจากอาการปวดศีรษะภายใน 2 ชั่วโมง และไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกใน 24 ชั่วโมง รวมถึงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งยาแก้ปวดไมเกรนแบ่งเป็น 2 ประเภท โดยอาจเริ่มต้นเลือกใช้จากความรุนแรงในการปวดศีรษะหรือผลข้างเคียงจากยา ได้แก่
1. ยาแก้ปวดทั่วไป ใช้ในกรณีปวดศีรษะเล็กน้อยหรือปานกลาง ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ได้แก่ paracetamol และยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs เช่น diclofenac potassium, ibuprofen, naproxen เป็นต้น
2. ยาแก้ปวดเฉพาะไมเกรน ใช้กรณีปวดศีรษะปานกลางหรือมากจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ หรือกรณีไม่ตอบสนองหรือมีผลข้างเคียงจากยาแก้ปวดทั่วไป เช่น ergotamine/caffeine และยากลุ่มทริปแทน (triptans) เช่น sumatriptan และ zolmitriptan รวมถึงยาพ่นจมูก zavegepant
ข้อมูลจากการสำรวจพบว่ามีผู้ป่วยไมเกรนกลุ่มที่มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรงจนทำให้การรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนไม่ให้ประสิทธิภาพจากยาอย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้ป่วยอาเจียนยาออกมาจนเกือบหมด นำมาสู่การพิจารณาพัฒนายาแก้ปวดไมเกรนในรูปแบบยาพ่นจมูก (nasal spray) ซึ่งในปัจจุบันมีจำหน่ายด้วยตัวยาหลายชนิด เช่น dihydroergotamine mesylate, ยากลุ่ม triptans และ zavegepant ซึ่งมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้ที่แตกต่างกันดังรายละเอียดในตารางที่ 1 โดยคาดว่าอาจมียาเหล่านี้จำหน่ายในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้
ตารางที่ 1 ตัวอย่างยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนรูปแบบพ่นจมูกและข้อควรระวัง
ตัวยาสำคัญ |
ข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้ |
---|---|
Dihydroergotamine (Diergo®, Migranal®, Trudhesa®) |
- มักทำให้คลื่นไส้ ควรพิจารณาให้ยาต้านอาเจียนร่วมด้วย - หากใช้ ≥10 วัน/เดือน อาจทำให้เกิดโรคปวดศีีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป (medication overuse headache) - ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาด (ischemic heart disease) หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery vasospasm) - ห้ามใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ (uncontrolled hypertension) โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (peripheral arterial diseases) หรือผู้ที่มีภาวะตับหรือไตบกพร่องอย่างรุนแรง (severe renal or hepatic impairment) |
Sumatriptan (Imitrex®, Tosymra®, Onzetra Xsail®) |
- หากใช้ ≥10 วัน/เดือน อาจทำให้เกิดโรคปวดศีีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป - ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ - ห้ามใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้หรือโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ |
Zolmitriptan (Zomig®) |
- หากใช้ ≥10 วัน/เดือน อาจทำให้เกิดโรคปวดศีีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป - ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ - ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตสูงไม่ได้หรือโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ - ไม่แนะนำในผู้ที่มีภาวะตับบกพร่องปานกลางหรือรุนแรง (moderate to severe hepatic impairment) |
Zavegepant (Zavzpret®) |
หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะตับผิดปกติอย่างรุนแรง (severe hepatic impairment) |
ยารักษาอาการปวดไมเกรนรูปแบบพ่นจมูกสามารถดูดซึมผ่านทางเยื่อบุจมูกและเข้าสู่สมองโดยตรง ทำให้ไม่ถูกทำลายที่บริเวณทางเดินอาหาร มีผลช่วยเพิ่มการดูดซึมและเกิดการออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว โดยพบว่ายาพ่นจมูกรักษาอาการปวดไมเกรนบางตัวสามารถบรรเทาอาการปวดได้ภายใน 15 นาทีหลังได้รับยา
สำหรับวิธีการใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำหรือเอกสารกำกับของแต่ละยี่ห้อหรือแต่ละบริษัท โดยทั่วไปแล้วควรกำจัดน้ำมูกหรือล้างจมูกก่อนใช้ยา สอดหัวพ่นเข้ารูจมูกพร้อมกับปิดรูจมูกอีกข้างหนึ่ง จากนั้นกดพ่นยาพร้อมกับสูดหายใจเข้าช้า ๆ โดยให้ศีรษะตั้งตรงอยู่เสมอ เนื่องจากหากสูดหายใจอย่างรุนแรงและเอนศีรษะไปด้านหลังจะทำให้ยาไหลลงสู่ลำคอกลับกลายเป็นการรับประทานยา ซึ่งจะสูญเสียข้อดีในการออกฤทธิ์เร็วของรูปแบบยาพ่นจมูก
ยาพ่นจมูกอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยโรคไมเกรน และคาดว่าจะเป็นรูปแบบยาที่นิยมใช้มากขึ้นในอนาคตเนื่องจากออกฤทธิ์ได้เร็ว และมีความสะดวกในการใช้ยา