โรคอ้วน (obesity) เป็นภาวะที่มีปริมาณไขมันเพิ่มขึ้นในร่างกายทุกส่วน ร่วมกับน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อมอีกด้วย การวินิจฉัยโรคอ้วนมักใช้ค่าดัชนีมวลกาย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “บีเอ็มไอ (BMI=body mass index)” เป็นตัวบ่งชี้ โดย BMI สามารถคำนวณจาก น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] หารด้วย ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง โดยหาก BMI มีค่าตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปจัดว่าเป็นโรคอ้วน[1]
การรักษาโรคอ้วนในปัจจุบันแนะนำให้ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และปรับพฤติกรรม ส่วนการใช้ยาลดน้ำหนักจะแนะนำในผู้ที่มีค่าฺ BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป หรือผู้ที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย[2] บทความนี้จะนำเสนอปัญหาที่พบจากการใช้ยาลดน้ำหนักรุ่นเก่า ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยารุ่นใหม่ รวมทั้งแนวทางเบื้องต้นในการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี
แม้ว่ายาลดน้ำหนักรุ่นเก่าหลายชนิดจะช่วยลดน้ำหนักตัวได้ดี แต่พบว่ายาเหล่านี้มีข้อจำกัดทางด้านความปลอดภัย เช่น sibutramine ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง และ rimonabant ที่เพิ่มความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวล ทำให้ยาทั้งสองชนิดนี้ถูกถอนทะเบียนยา (ถูกระงับการใช้) ส่วนยารักษาโรคอ้วนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น phentermine แนะนำให้ใช้เพียงระยะสั้น เนื่องจากพบผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน ขณะที่ orlistat แม้จะไม่ค่อยพบผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่ยานี้ช่วยลดน้ำหนักได้ไม่มากนัก อีกทั้งผู้ป่วยบางคนไม่อยากใช้ยานี้เพราะกังวลเกี่ยวกับการมีน้ำมันปนมากับอุจจาระจนไม่สามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระได้ (กลั้นอุจจาระไม่อยู่)[3]
ปัจจุบันมีการพัฒนายาลดน้ำหนักรุ่นใหม่เพื่อลดข้อจำกัดด้านความปลอดภัยของยารุ่นเก่าและส่งเสริมให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ดีขึ้น ยาเหล่านี้มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนในร่างกายที่เรียกว่า “อินครีติน (incretin)” ยากลุ่มนี้เชื่อว่าออกฤทธิ์ลดน้ำหนักตัวด้วย 2 กลไกหลัก (รูปภาพ) คือ ยับยั้งการ ทำงานของเซลล์ประสาทใน สมองส่วนที่ควบคุมความหิว เป็นผลให้ลดความอยากอาหาร และยาสามารถชะลอการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้น จนรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น จากกลไกข้างต้นยาในกลุ่มนี้จึงช่วยควบคุมปริมาณ อาหารที่รับประทาน แล้วทำให้น้ำหนักตัวลดลง[4]
รูปภาพ: กลไกการช่วยลดน้ำหนักตัวของยาที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนอินครีติน
ยาลดน้ำหนักรุ่นใหม่ที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ liraglutide, semaglutide และ tirzepatide ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่พบว่าสามารถลดน้ำหนักตัวได้ดี จึงมีการนำมาศึกษาเพิ่มเติมจนได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยโรคอ้วน (ตาราง) การศึกษาในผู้ป่วยโรคอ้วนพบว่า liraglutide, semaglutide และ tirzepatide สามารถลดน้ำหนักตัวได้ประมาณ 7, 10 และ 15 กิโลกรัม ตามลำดับ ภายในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี[5-8] ซึ่งวิธีการใช้ยาเหล่านี้ คือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนังวันละครั้ง จึงมักถูกเรียกว่า “ปากกาลดน้ำหนัก” เนื่องจากเข็มฉีดยามีลักษณะคล้ายปากกา
ตาราง: ข้อมูลยาลดน้ำหนักรุ่นใหม่
ชื่อยา |
ข้อบ่งใช้ |
วิธีใช้ยา |
Liraglutide (SAXENDA®)[9] |
ลดน้ำหนักเสริมจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ที่มี BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป หรือ ผู้ที่มี BMI ตั้งแต่ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย |
|
Semaglutide (WEGOVY®)[10] |
ลดน้ำหนักส่วนเกินในระยะยาวในผู้ป่วยโรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักเกินที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย |
|
Tirzepatide (ZEPBOUND®)[11] |
ลดน้ำหนักเสริมจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ที่มี BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป หรือ ผู้ที่มี BMI ตั้งแต่ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย |
|
แม้ว่ายากลุ่มนี้จะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ในผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ยาจะลดระดับน้ำตาลไม่มาก[12] จึงมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะได้รับอันตรายจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะใช้ยา
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากยากลุ่มนี้ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย ปวดท้อง ไม่สบายท้อง หรือมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมากแต่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า ความคิดอยากทำร้ายตนเอง ภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ภาวะไตวายเฉียบพลัน อีกทั้งยังพบว่ายากลุ่มนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ จึงมีข้อห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคมะเร็งไทรอยด์หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว[9-11] อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้ทำการรักษาจะคอยติดตามและเฝ้าระวังอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดกับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ แต่หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติและกังวลใจว่าอาจเกิดจากยา สามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากแพทย์หรือเภสัชกรในร้านยาใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง
ในการรักษาโรคอ้วนแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ปลอดภัยที่สุด ดีต่อสุขภาพ และให้ผลยั่งยืน[2]
คำแนะนำการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น
- วางแผนการรับประทานอาหารต่อวันให้ได้รับพลังงานไม่มากกว่าความต้องการของร่างกาย
- ควบคุมปริมาณและสัดส่วนอาหารในแต่ละมื้อ โดยจัดสัดส่วนอาหารต่อมื้อเป็น “2:1:1” คือ ผัก 2 ส่วน ต่อ โปรตีน 1 ส่วน ต่อ ข้าวหรือแป้ง 1 ส่วน[13]
- เลือกรับประทานอาหารประเภทที่ใช้น้ำมันน้อย เช่น การต้มหรือการนึ่ง และเลือกอาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป
คำแนะนำสำหรับการออกกำลังกาย เช่น
- ให้ออกกำลังกายวันละ 30-60 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
- เพิ่มการขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน หรือทำงานบ้านต่าง ๆ ด้วยตนเอง
จากข้อมูลในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ายาลดน้ำหนักรุ่นใหม่ค่อนข้างมีความปลอดภัยและส่งเสริมให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้อย่างสม่ำเสมอมากกว่ายารุ่นเก่า แต่ยายังคงมีผลข้างเคียงที่ควรระวัง และยาเหล่านี้จะใช้เฉพาะในผู้ป่วยโรคอ้วนภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอันดับแรกเพื่อช่วยลดน้ำหนักตัว อีกทั้งวิธีนี้ยังช่วยให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนอีกด้วย