โรคความดันโลหิตสูง คือ ภาวะที่ร่างกายมีความดันโลหิตซิสโตลิก (systolic blood pressure, SBP, ความดันตัวบน)³ 140 มม.ปรอท และ/หรือ ความดันโลหิตไดแอสโตลิก (diastolic blood pressure, DBP, ความดันตัวล่าง) ³90 มม.ปรอท โดยอ้างอิงจากการวัดความดันโลหิตที่สถานพยาบาล ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันพบประชากรไทย 1 ใน 4 ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยปัญหาหลักของการควบคุมโรคความดันโลหิต คือ การที่ผู้ป่วยไม่ได้ตระหนักว่าตนเองเป็นโรค หรือแม้จะตระหนักก็ยังไม่ให้ความสำคัญและไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนทำให้โรครุนแรง มีโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตของคนไทยจำนวนมากในแต่ละปีจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคไตเรื้อรัง หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น1
ปัจจุบันมีการรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นมาตรฐานอยู่ 2 วิธี คือ 1) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และ 2) การให้ยาลดความดันโลหิต โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถทำได้โดยการลดน้ำหนัก ปรับรูปแบบของการบริโภคอาหาร จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร ออกกำลังกาย จำกัดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกบุหรี่ ในส่วนของการให้ยาลดความดันโลหิต ผู้ป่วยจะได้รับยาลดความดันโลหิตที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม ซึ่งการใช้ยาลดความดันโลหิตมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยลดอัตราการเกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด และลดอัตราการตาย1 ดังนั้นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ได้รับยาลดความดันโลหิตควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามคำสั่งของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยาทุกชนิดเมื่อมีประโยชน์ก็อาจมีผลข้างเคียง ซึ่งผลข้างเคียงของยาลดความดันโลหิตมีได้หลากหลาย เช่น ความดันต่ำ วูบ หน้ามืด หรือขาบวม แต่ผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยมักพบแต่ไม่ทราบว่าเกิดจากการใช้ยากลุ่มนี้ คือ อาการไอ ซึ่งไม่สัมพันธ์กับการเป็นหวัด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ สัมผัสควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ
หากแบ่งตามระยะเวลา อาการไอสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ 1) อาการไอเฉียบพลัน (ไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์) และ 2) อาการไอเรื้อรัง (ไอมากกว่า 3 สัปดาห์) โดยอาการไอเฉียบพลันมักมีสาเหตุจากการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ การกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง การมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลมและการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ในส่วนของอาการไอเรื้อรังมักมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการใช้ยาลดความดันโลหิต โรคหืด โรคกรดไหลย้อน หรือโรควัณโรคปอด2,3
หากแบ่งตามลักษณะของอาการ สามารถแบ่งอาการไอได้เป็น 2 ชนิด คือ 1) ไอแห้ง และ 2) ไอแบบมีเสมหะ โดยอาการไอแห้งเกิดจากการระคายคอหรือระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง และจะไม่มีเสมหะปน เช่น อาการไอจากกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบ และการใช้ยาลดความดันโลหิต ในส่วนของอาการไอแบบมีเสมหะมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ปอดอักเสบ หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากร่างกายมีการสร้างเมือกเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ จึงทำให้มีอาการไอร่วมกับมีเสมหะ2,3
ปัจจุบันมียาลดความดันโลหิตหลายชนิด โดยยาลดความดันโลหิตซึ่งมักมีรายงานผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการไอ คือ ยาในกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACEIs) และ beta-blockers4
ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEIs ดังแสดงในตารางที่ 1 ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตโดยขยายหลอดเลือดและลดการดูดกลับน้ำที่ไต ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง และสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ โดย ACEIs ทำให้เกิดอาการไอจากการไปรบกวนการกำจัดออกของสารที่ทำให้เกิดอาการไอ คือ bradykinin ซึ่งมีหน้าที่ขยายหลอดเลือด แต่การมี bradykinin สะสมมากในร่างกาย สามารถส่งผลให้เกิดอาการไอในผู้ที่ใช้ยา โดยผู้ป่วยมีโอกาสเกิดอาการไอหลังจากใช้ ACEIs ประมาณ 35% ซึ่งอาการไอที่พบมักมีลักษณะไอแห้ง ๆ ติดต่อกันโดยเกิดจากความรู้สึกระคายคอ ซึ่งอาการจะเพิ่มมากขึ้นในเวลากลางคืนหรือเมื่อนอนราบ ดังนั้นถ้าหากมีอาการไอแบบมีเสมหะอาจไม่ได้เป็นผลจากยา ACEIs โดยตรง โดยความรุนแรงของอาการไอนั้นจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ส่วนมากอาการไอจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพียงแต่จะสร้างความรำคาญให้แก่ตัวผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงด้านอาการไอเลยก็เป็นได้4-6
ตารางที่ 1 ตัวอย่างยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEIs ที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน7
ชื่อตัวยาสำคัญ |
ตัวอย่างชื่อการค้า |
ปริมาณตัวยาสำคัญ (mg) |
Captopril |
CAPOTEN, CAPRIL, TAGUAR |
12.5, 25, 50 |
Cilazapril |
INHIBACE |
1, 2.5, 5 |
Enalapril |
ANAPRIL, ENACE, ENARIL |
5 ,10, 20 |
Imidapril |
TANATRIL |
2.5, 5, 10 |
Lisinopril |
AUROLIZA, DAPRIL, LISDENE |
2.5, 5, 10, 20 |
Perindopril |
COVERSYL |
2, 4, 5, 8, 10 |
Quinapril |
ACCURETIC, ACCUPRIL, QUINARIL |
5, 10, 20, 40 |
Ramipril |
RAMIRIL, RAMTACE, TRITACE |
1.25, 2.5, 5, 10 |
Zofenopril |
BIFRIL |
15, 30 |
ยากลุ่ม beta-blockers ดังแสดงในตารางที่ 2 ออกฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้ความดันโลหิตในร่างกายลดลง แต่สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ คือ ยาสามารถทำให้หลอดลมหดตัว ทำให้อาจมีการหายใจลำบากและเกิดอาการไอ ซึ่งภายหลัง beta-blockers รุ่นใหม่ ได้แก่ atenolol, metoprolol, nebivolol และ bisoprolol ได้รับการพัฒนาให้จำเพาะต่อหัวใจและลดผลข้างเคียงที่ทำให้หลอดลมหดตัว จึงอาจลดผลข้างเคียงด้านอาการไอได้มากขึ้น โดยอาการไอที่พบจากการใช้ beta-blockers จะมีลักษณะไอแห้งและอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เกิดอาการไอจากการได้รับยากลุ่มนี้มักเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดหรือปอดอุดกั้นเรื้อรังร่วมด้วย เนื่องจากผู้ป่วยมีหลอดลมที่ตีบแคบอยู่เดิม8-11
ตารางที่ 2 ตัวอย่างยาลดความดันโลหิตกลุ่ม beta-blockers ที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน7
ชื่อตัวยาสำคัญ |
ตัวอย่างชื่อการค้า |
ปริมาณตัวยาสำคัญ |
Atenolol |
ANOLOL, ATENOL, BETADAY |
25, 50, 100 mg |
Bisoprolol |
CONCOR, HYPERCOR, NOVACOR |
2.5, 5, 10 mg |
Carvedilol |
CARATEN, CARVOLOL, DILATREND |
3.125, 6.25, 12.5, 25 mg |
Metoprolol |
BETABLOK, BETALOC ZOK, CARDIOSEL-OD, SEFLOC, SELOKEN ZOK |
47.5, 95, 100, 200 mg |
Nebivolol |
BILKATE, BIOLET, NEBILET |
5 mg |
Propranolol |
ANNALOL, BETALOL, PROLOL |
10, 40 mg |
โดยปกติแล้วหากอาการแสดงของอาการไอตรงตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการใช้ยา ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาให้ผู้ป่วย อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้เปลี่ยนหรือหยุดใช้ยาเอง เนื่องจากยารักษาโรคความดันโลหิตสูงต้องใช้เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคุมความดันให้ได้ตามค่าเป้าหมายและลดความรุนแรงของโรค ซึ่งผู้ป่วยหลายคนอาจเข้าใจว่าการรับประทานยาลดความดันโลหิตแล้วค่าความดันจะกลับมาปกติคือการหายจากโรคความดันโลหิตสูง จึงไม่รับประทานยาต่อ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังจึงต้องใช้ยาเพื่อคุมความดันให้ปกติและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ