หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“ทานยาลดความดันโลหิตทำให้ขาบวม” จริงหรือไม่ ?

โดย นศภ.วรรัญญา เจนกุลประสูตร ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.มัลลิกา ชมนาวัง เผยแพร่ตั้งแต่ 5 มกราคม พ.ศ.2567 -- 27,291 views
 

ขาบวม เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การยืนหรือนั่งเป็นเวลานานเกินไป การรับประทานอาหารรสเค็มจัด น้ำหนักเกิน เป็นหญิงตั้งครรภ์ อีกทั้งอาจมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ โดนแมลงสัตว์กัดต่อย การติดเชื้อ หรืออาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับไตหรือหัวใจแฝงอยู่ และนอกจากนี้การรับประทานยาบางชนิดก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ขาบวมได้เช่นกัน[1]

ดังนั้นหากคุณกำลังประสบปัญหาขาบวมอยู่ ลองหยิบถุงยาของคุณมาดู อาจเจอว่าคุณกำลังใช้ยาลดความดันโลหิตชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้ขาบวมอยู่ก็ได้ บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับยาลดความดันโลหิตที่มักเป็นสาเหตุของอาการขาบวมในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รวมไปถึงลักษณะอาการ และวิธีการปฏิบัติตนเมื่อเกิดอาการขาบวมจากยาลดความดัน

อาการขาบวมจากยาลดความดันโลหิตมีลักษณะเป็นอย่างไร?

อาการขาบวมมักเกิดขึ้นภายใน 6 เดือน หลังเริ่มใช้ยา[2] โดยมักเป็นการขาบวมแบบกดบุ๋ม (pitting edema) กล่าวคือหากใช้นิ้วกดบริเวณขาที่บวมแล้วปล่อย ผิวหนังบริเวณนั้นจะมีการบุ๋มลงไป และจะใช้เวลานานกว่าปกติในการกลับคืนสู่สภาพเดิม อีกทั้งอาการบวมจะเกิดกับขาทั้ง 2 ข้าง ไม่เกิดเพียงขาข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น

ยาลดความดันโลหิตหลากหลายชนิดสามารถก่อปัญหาขาบวมได้[3] ยกตัวอย่างเช่น

- ยาปิดกั้นช่องแคลเซียม (calcium channel blockers) เช่น amlodipine, nifedipine เป็นต้น

- ยาขยายหลอดเลือด (vasodilators) เช่น minoxidil, hydralazine เป็นต้น

- ยาปิดกั้นตัวรับชนิดแอลฟ่า-1 (α1-blockers) เช่น doxazosin, alfuzosin เป็นต้น

- ยากระตุ้นตัวรับแอดรีเนอร์จิกชนิดแอลฟา-2 (α2-adrenoceptor agonists) เช่น clonidine, tizanidine เป็นต้น

- ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (β-blockers) เช่น propranolol, carvedilol เป็นต้น

แม้จะมียาลดความดันโลหิตมากมายที่อาจเป็นสาเหตุของอาการขาบวม แต่ยากลุ่มที่มักพบว่าเป็นต้นตอของปัญหานี้อยู่บ่อยครั้ง คือ ยาปิดกั้นช่องแคลเซียม ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักกับยาลดความดันโลหิตในกลุ่มนี้กัน

ยาลดความดันโลหิตกลุ่มปิดกั้นช่องแคลเซียม[4]

ยาลดความดันโลหิตกลุ่มปิดกั้นช่องแคลเซียม หรือ Calcium Channel Blockers (นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า CCBs) เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาการเจ็บแน่นหน้าอกเนื่องจากโรคหัวใจ อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่า CCBs อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้ เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มีกลไกในการปิดกั้นช่องแคลเซียมบริเวณหัวใจและกล้ามเนื้อหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อหลอดเลือด ทำให้ลดอัตราการเต้นและการบีบตัวของหัวใจให้เป็นปกติและหลอดเลือดเกิดการขยายตัว จึงนำมาสู่การลดลงของความดันโลหิต โดย CCBs แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามโครงสร้างของยา ได้แก่ กลุ่ม Dihydropyridines Calcium Channel Blockers (DHP-CCBs) ซึ่งยากลุ่มนี้มักมีชื่อลงท้ายด้วยคำว่า “dipine” เช่น amlodipine, felodipine และ manidipine เป็นต้น ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่ม non-Dihydropyridines Calcium Channel Blockers (non-DHP-CCBs) ได้แก่ verapamil และ diltiazem

ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม CCBs โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม DHP-CCBs มักเป็นสาเหตุของอาการขาบวม เนื่องจากออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อหลอดเลือดแดงมากกว่ากลุ่ม non-DHP-CCBs โดยเมื่อ DHP-CCBs ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงจนทำให้หลอดเลือดแดงส่วนปลายเกิดการขยาย จะส่งผลให้แรงดันภายในหลอดเลือดสูงขึ้นและเกิดการดันน้ำภายในหลอดเลือดออกมาสู่เนื้อเยื่อ ทำให้เกิดอาการบวม (edema) ขึ้น โดยเฉพาะบริเวณขาหรือเท้า ซึ่งอาการบวมนี้จะขึ้นอยู่กับขนาดการใช้ยา (dose dependent) สำหรับ DHP-CCBs ที่มีใช้ในประเทศไทยแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ชื่อยา ตัวอย่างชื่อการค้า และขนาดของยาลดความดันโลหิตกลุ่ม DHP-CCBs ที่มีใช้ในประเทศไทย[5,6]

ชื่อยา

ตัวอย่างชื่อการค้า

ขนาด (มิลลิกรัม)

Amlodipine

AMBES, AMLOPINE, S-AMBES

2.5, 5, 10

Felodipine

ENFELO, FELOPINE, FELOTEN

2.5, 5, 10

Lercanidipine

LERCADIP, ZANIDIP

10, 20

Manidipine

CARDIPLOT, KERDICA, MADIPLOT

5, 10, 20

Nifedipine

ADIPINE, NELAPINE, NIFELAT

5, 10, 20, 30

Nicardipine

CARDEPINE SR

40

ความสัมพันธ์ระหว่างอาการขาบวมในผู้ใช้ยา DHP-CCBs แต่ละชนิด

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่รวบรวมงานวิจัยทางคลินิกซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาการขาบวมที่เกิดขึ้นในผู้ที่ใช้ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม DHP-CCBs แต่ละชนิดเปรียบเทียบกับยาหลอก สามารถเรียงลำดับยาที่พบการเกิดขาบวมได้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก เรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ nifedipine > nicardipine > amlodipine > felodipine > lercanidipine[7] ทั้งนี้ข้อมูลจากการศึกษานี้ไม่ได้รวมถึงการศึกษาของ manidipine ซึ่งเป็น DHP-CCBs ซึ่งมีข้อมูลว่าทำให้ขาบวมน้อยกว่า amlodipine[8]

คำแนะนำเมื่อเกิดอาการขาบวมจากการใช้ยาลดความดันโลหิต

การปฏิบัติตนเพื่อบรรเทาอาการขาบวมจากการใช้ยามีหลายประการ โดยหากผู้ป่วยมีอาการขาบวมเล็กน้อย อาจใช้วิธีการยกขาสูงขึ้น โดยอาจยกขาขึ้นพาดบนเก้าอี้ ทำให้ขาอยู่ในแนวราบในตำแหน่งที่สูงขึ้น (รูปที่ 1) จะสามารถช่วยลดอาการขาบวมในผู้ป่วยที่มีอาการขาบวมในระดับเล็กน้อยได้ แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการขาบวมปานกลางถึงรุนแรง กล่าวคืออาการขาบวมรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จะแนะนำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อแจ้งสาเหตุของอาการขาบวม และให้แพทย์ปรับลดขนาดยาลง หรือในบางกรณีแพทย์อาจเปลี่ยนยาลดความดันโลหิตเป็นกลุ่มอื่นที่ไม่ทำให้เกิดอาการขาบวมแทน[9]

รูปที่ 1 ท่ายกขาพาดบนเก้าอี้ให้ขาอยู่ในแนวราบในตำแหน่งที่สูงขึ้น เมื่อเกิดอาการขาบวม

อย่างไรก็ตามอาการขาบวมซึ่งมีสาเหตุมาจากยาลดความดันโลหิตในกลุ่ม CCBs นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกรายที่ใช้ยาในกลุ่มนี้ โดยมีงานวิจัยทางคลินิกที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยากลุ่ม CCBs กับการเกิดอาการขาบวม พบว่าหลังผู้ป่วยได้รับยาในกลุ่ม CCBs ไปแล้ว 6 เดือน มีเพียง 24% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่เกิดอาการขาบวมขึ้น และมีผู้ป่วยเพียง 5% เท่านั้นที่มีอาการขาบวมรุนแรงจนไม่สามารถทนได้[2] ดังนั้นอย่ากังวลที่จะเริ่มใช้ยาในกลุ่มนี้ เนื่องจากยาลดความดันโลหิตในกลุ่มนี้สามารถช่วยควบคุมความดันโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคตได้

นอกจากนี้อาการขาบวมอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากยาที่ใช้ โดยโรคบางโรคที่แอบแฝงอยู่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยขาบวมได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อรักษาที่ต้นเหตุ และไม่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงในภายหลัง ทั้งนี้โรคที่มีอาการขาบวมเป็นหนึ่งในอาการแสดง เช่น ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (acute heart failure) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ซึ่งส่วนมากมักเกิดที่หลอดเลือดดำลึกบริเวณขา (deep vein thrombosis) โรคไต เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. National Health Service. Swollen ankles, feet and legs (oedema) [Online]. 2022 [Cited 26 August 2023]. Available from: https://www.nhs.uk/conditions/oedema/
  2. Makani H, Bangalore S, Romero J, et al. Peripheral edema associated with calcium channel blockers: incidence and withdrawal rate--a meta-analysis of randomized trials. J Hypertens. 2011; 29(7):1270-1280.
  3. Largeau B, Cracowski JL, Lengellé C, Sautenet B, Jonville-Béra AP. Drug-induced peripheral oedema: An aetiology-based review. Br J Clin Pharmacol. 2021; 87(8):3043-3055.
  4. McKeever RG, Hamilton RJ. Calcium Channel Blockers. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; August 5, 2022.
  5. สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย. บัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย [Online]. 2023 [Cited 26 August 2023]. Available from: https://tmt.this.or.th/TMTBrowser.dll/ ZahpZhclFuw4lixeaIIXeG/$/
  6. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” [Online}. 2023 [Cited 10 September 2023]. Available from: https://www.fda.moph.go.th/?op=kwssl&lang=1&skin=s&db=Main&ww=
  7. Liang L, Kung JY, Mitchelmore B, Cave A, Banh HL. Comparative peripheral edema for dihydropyridines calcium channel blockers treatment: A systematic review and network meta-analysis. J Clin Hypertens (Greenwich). 2022; 24(5):536-554.
  8. Richy FF, Laurent S. Efficacy and safety profiles of manidipine compared with amlodipine: a meta-analysis of head-to-head trials. Blood Press. 2011; 20(1):54-59.
  9. National Health Service. Managing peripheral oedema caused by calcium channel blockers [Online]. 2022 [Cited 10 August 2023]. Available from: https://www.sps.nhs.uk/articles/ managing-peripheral-oedema-caused-by-calcium-channel-blockers/

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาความดัน ขาบวม
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้