ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (statins) เช่น simvastatin, atorvastatin และ rosuvastatin เป็นยาที่มีผลลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ใช้ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือป้องกันการกลับเป็นซ้ำในผู้ที่เคยเป็นโรคเหล่านี้มาก่อน โดยยากลุ่มนี้อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ท้องผูก ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ รวมถึงอาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อ ซึ่งพบได้ไม่มากนัก แต่หากเกิดขึ้นแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน
อาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อจากยากลุ่ม statins หรือ statin-associated muscle symptoms (SAM) ได้แก่ อาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อล้า ร่วมกับมีอาการคล้ายโรคหวัด ตึงกล้ามเนื้อ หรือตะคริว มักแสดงอาการตอนกลางคืน ในบางรายอาจพบกล้ามเนื้ออักเสบหรือพบการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ creatine kinase (CK) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้อาจพบอาการอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ ปัสสาวะสีน้ำตาล หรือเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย (rhabdomyolysis) จากรายงานพบว่าผู้ใช้ยากลุ่ม statins เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อชนิดไม่รุนแรงเพียงร้อยละ 1.5-5 และเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลายเพียงร้อยละ 0.01-0.04 และมักพบในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี โดย simvastatin มีรายงานการเกิดอุบัติการณ์อาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อมากที่สุด รองลงมาคือ atorvastatin และ rosuvastatin ตามลำดับ พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับผลข้างเคียงจากยากลุ่ม statins มักมีอาการปวดและล้าบริเวณกล้ามเนื้อส่วนต้นขา สะโพก น่อง หลังหรือตามลำตัว อาจตรวจพบการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ creatine kinase (CK) โดยมักเกิดอาการหลังจากเริ่มใช้ยาเป็นเวลา 1 เดือน และอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นเมื่อมีการเพิ่มขนาดของยา ทั้งนี้อาการจะหายไปเมื่อมีการหยุดยา
ปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน หรือเกิดจากการที่ยาไปรบกวนการทำงานของแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์กล้ามเนื้อ หรือเกิดจากการที่ยายับยั้งเอนไซม์ ซึ่งใช้ในการสร้างโคเลสเตอรอลจนทำให้ coenzyme Q10 ลดลง ส่งผลให้การสร้างพลังงานในเซลล์กล้ามเนื้อลดลง หรือเกิดจากยากระตุ้นการทำลายเซลล์กล้ามเนื้อผ่านระบบภูมิคุ้มกัน
แม้ว่ายากลุ่ม statins อาจมีผลข้างเคียงต่อกล้ามเนื้อ แต่จากข้อมูลที่มีในปัจจุบันยังถือว่าการใช้ยามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นในกรณีที่ผู้ใช้ยาสังเกตอาการข้างเคียงแล้วพบว่ามีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยหาสาเหตุไม่ได้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กดเจ็บ ตะคริวกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหดเกร็ง ปัสสาวะสีเข้มหรือสีน้ำตาล ถ่ายปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะออกน้อยลง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการต่อไป ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่พบว่าการรับประทาน coenzyme Q10 หรือวิตามินดีช่วยลดอาการภาวะนี้ได้อย่างชัดเจน