หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาพ่นแก้คัดจมูก ทำไมยิ่งใช้ยิ่งคัดจมูก?

โดย นศภ.บุณยวีร์ กรณวงศ์ ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภญ.อัญชลี จินตพัฒนากิจ เผยแพร่ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2565 -- 93,370 views
 

เคยสงสัยหรือไม่ เหตุใดยาพ่นแก้คัดจมูกบางชนิดสามารถบรรเทาอาการคัดจมูกได้ดีเมื่อใช้ในช่วงแรก แต่กลับทำให้คัดจมูกมากขึ้นหลังจากใช้ยาพ่นจมูกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานแล้วหยุดใช้

ยาพ่นแก้คัดจมูก (nasal spray) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ (steroid) ซึ่งตัวยาสำคัญออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ จึงช่วยลดการอักเสบบริเวณโพรงจมูก1 ยากลุ่มแรกนี้ออกฤทธิ์ภายใน 3-12 ชั่วโมงและเห็นผลสูงสุดเมื่อใช้ติดต่อกันภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์2 และ 2) ยาพ่นจมูกชนิดออกฤทธิ์หดหลอดเลือดในโพรงจมูก (decongestant) ซึ่งตัวยาสำคัญออกฤทธิ์หดหลอดเลือดที่บวมบริเวณโพรงจมูก ออกฤทธิ์ได้เร็วภายใน 5-10 นาที3-5 ซึ่งจากการออกฤทธิ์ที่รวดเร็วทำให้ยากลุ่มหลังนี้ได้รับความนิยมสำหรับการบรรเทาอาการคัดจมูกเป็นครั้งคราว แต่การใช้ยาพ่นจมูกชนิดออกฤทธิ์หดหลอดเลือดในโพรงจมูกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำของการคัดจมูกหรือคัดจมูกมากยิ่งขึ้นได้ ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์นี้พบได้น้อยในการใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์6-10 บทความนี้จึงมุ่งอธิบายสาเหตุที่ยากลุ่มนี้ส่งผลให้เกิดอาการคัดจมูกมากยิ่งขึ้น

รู้จักยาพ่นหดหลอดเลือดในโพรงจมูก

“ยาพ่นแก้คัดจมูกชนิดออกฤทธิ์หดหลอดเลือดในโพรงจมูก” คือ ยารูปแบบสเปรย์ที่ใช้บรรเทาอาการคัดจมูกชั่วคราว โดยใช้พ่นเฉพาะเวลามีอาการ ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ อ็อกซีเมทาโซลิน (oxymetazoline) ไซโลเมทาโซลิน (xylometazoline) และนาฟาโซลิน (naphazoline) ซึ่งมีชื่อทางการค้าและขนาดยาที่ใช้ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ตัวอย่างยาพ่นแก้คัดจมูกที่มีจำหน่ายในประเทศไทย

ตัวยาสำคัญ

ตัวอย่างชื่อทางการค้า

ขนาดยาที่ใช้

0.05% อ็อกซีเมทาโซลิน (oxymetazoline)

- Iliadin®

- Phindroz®

- Feenoze®

- Metzodin®

- Oxymet®

- Pernazene oxy®

พ่นจมูกข้างละ 2-3 พ่น เช้า-เย็น

พ่นห่างกันแต่ละครั้งมากกว่า 10-12 ชั่วโมง สูงสุดไม่เกิน 2 ครั้งต่อวัน (ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี)

0.1% ไซโลเมทาโซลิน (xylometazoline)

- Actavia®

- Otrivin®

พ่นจมูกข้างละ 1 พ่น เช้า-กลางวัน-เย็น สูงสุดไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน

(ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี)

0.05% ไซโลเมทาโซลิน (xylometazoline)

- Otrivin®

เด็กอายุ 6-11 ปี: พ่นจมูกข้างละ 1-2 พ่น เช้า-กลางวัน-เย็น สูงสุดไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน

เด็กอายุ 1-5 ปี: พ่นจมูกข้างละ 1 พ่น เช้า-เย็น สูงสุดไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน

0.1% นาฟาโซลิน (naphazoline) และ 0.25% คลอเฟนิรามิน (chlorpheniramine)

- Nasol®

- Nose frossy®

พ่นจมูกข้างละ 1 พ่น ทุก 6 ชั่วโมง หรือตามความจำเป็น

(ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี)

หมายเหตุ: การพ่นจมูกเกิดจากการกดยาด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน 1 ครั้ง (เรียกว่า 1 พ่น หรือ 1 puff)

นอกจากผลิตในรูปแบบยาพ่นจมูกแล้ว ยังมียาเหล่านี้ในรูปแบบยาหยอดจมูก (nasal drop) ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดการกลับเป็นซ้ำของการคัดจมูกหรือคัดจมูกมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับรูปแบบยาพ่นได้หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

การออกฤทธิ์ของยาพ่นแก้คัดจมูก

การคัดจมูกเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุบริเวณโพรงจมูกซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่หลอดเลือดดำขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้เยื่อบุบริเวณโพรงจมูกบวมและอุดตันจนไม่สามารถหายใจได้สะดวกและเกิดการคัดจมูกขึ้น11 เมื่อเราใช้ยาพ่นแก้คัดจมูก ตัวยาจะแทรกผ่านบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกและออกฤทธิ์ให้หลอดเลือดที่บริเวณนั้นหดตัว ส่งผลลดอาการคัดจมูกลงได้12 อย่างไรก็ตามการใช้ยาพ่นแก้คัดจมูกชนิดออกฤทธิ์หดหลอดเลือดในโพรงจมูกเหมาะสำหรับการใช้เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูกเพียงครั้งคราว เช่น อาการคัดจมูกที่เกิดขึ้นจากหวัด รวมถึงอาการคัดจมูกที่มีความจำเป็นต้องลดการบวมของเยื่อบุจมูกชั่วคราวจากโรคเรื้อรัง เช่น เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ซึ่งการใช้ยาพ่นแก้คัดจมูกชนิดหดหลอดเลือดในโพรงจมูกเพื่อรักษาอาการคัดจมูกที่มีลักษณะดังกล่าวอาจไม่ใช่การรักษาที่เหมาะสมที่สุด ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประเมินหาสาเหตุของอาการคัดจมูกและความเหมาะสมของยาหรือวิธีการในการรักษา

การกลับเป็นซ้ำหรือคัดจมูกมากยิ่งขึ้นหลังหยุดใช้ยา

การกลับเป็นซ้ำของอาการคัดจมูกหรือคัดจมูกมากยิ่งขึ้น (rebound congestion) หลังจากหยุดใช้ยาพ่นแก้คัดจมูกสามารถเกิดได้ในผู้ที่ใช้ยาพ่นแก้คัดจมูกต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานกว่า 7-10 วัน ปัจจุบันกลไกการเกิดสาเหตุดังกล่าวยังไม่แน่ชัด แต่มีสมมติฐานว่าการได้รับยาพ่นแก้คัดจมูกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เยื่อบุโพรงจมูกเกิดการบวม โดยยาแก้คัดจมูกส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณโพรงจมูกหดตัว อย่างต่อเนื่องและส่งผลให้เลือดไปหล่อเลี้ยงที่บริเวณเยื่อบุโพรงจมูกน้อยลง เยื่อบุโพรงจมูกจึงเกิดการคั่งและบวม หรืออาจเกิดจากความสามารถในการหดตัวของหลอดเลือดบริเวณโพรงจมูกแย่ลง ทำให้หลอดเลือดดำบริเวณโพรงจมูกกลับมาขยายตัว และอุดตันโพรงจมูกอีกครั้ง และเกิดการชินต่อยาแก้คัดจมูก ทำให้ต้องใช้ยาในขนาดที่สูงขึ้น นอกจากนี้อาจเกิดจากความตึงตัวของหลอดเลือด (vasomotor tone) เปลี่ยนแปลงไป เพิ่มการไหลเวียนของเลือดมายังบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกและเกิดการบวมได้12

การใช้ยาพ่นแก้คัดจมูกอย่างเหมาะสม

จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด การใช้ยาพ่นแก้คัดจมูกจึงควรใช้เฉพาะเวลามีอาการและใช้ติดต่อกันไม่เกิน 3-5 วัน หรือตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Okano M. Mechanisms and clinical implications of glucocorticosteroids in the treatment of allergic rhinitis. Clin Exp Immunol. 2009; 158(2):164-73.
  2. Ambizas EM, Dimitropoulos E. Allergic rhinitis and intranasal corticosteroid sprays. US Pharm. 2015; 40(7):8-11.
  3. MIMS Online Thailand. Naphazoline [Internet]. Available from: https://www.mims.com/malaysia/drug/info/ naphazoline?mtype=generic
  4. MIMS Online Thailand. Oxymetazoline [Internet]. Available from: https://www.mims.com/singapore/drug/info/ oxymetazoline?mtype=generic
  5. MIMS Online Thailand. Xylometazoline [Internet]. Available from: https://www.mims.com/singapore/drug/info/ xylometazoline?mtype=generic
  6. Nasacort® AQ (triamcinolone acetonide) nasal spray [package insert]. Bridgewater (NJ): Sanofi-aventis U.S. LLC; 2021. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/ 020468s024lbl.pdf
  7. Veramyst (fluticasone furoate) nasal spray [package insert]. North Carolina: GlaxoSmithKline; 2011. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2007/022051lbl.pdf
  8. Rhinocort aqua (budesonide) nasal spray [package insert]. Wilmington (DE): AstraZeneca LP; 2010. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/020746s026lbl.pdf
  9. Nasones® (mometasone furoate monohydrate) nasal spray [package insert]. Kenilworth (NJ): Schering Corporation; 2009. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/ 020762s038lbl.pdf
  10. Flonase (fluticasone propionate) nasal spray [package insert]. North Carolina: GlaxoSmithKline; 2019. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/020121s045lbl.pdf
  11. Naclerio RM, Bachert C, Baraniuk JN. Pathophysiology of nasal congestion. Int J Gen Med. 2010; 3:47-57.
  12. Wahid NWB, Shermetaro C. Rhinitis medicamentosa [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing [updated 2021 Sep 9; cited 2021 Dec 21]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/ NBK538318/


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาพ่นแก้คัดจมูก decongestant คัดจมูกหลังจากหยุดใช้ยาพ่นแก้คัดจมูก
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้