หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การใช้ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระสำหรับอาการท้องผูก

โดย นศภ. สุชานาฎ หนูขาว ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2565 -- 56,360 views
 

อาการท้องผูกและหลักการรักษาเบื้องต้น

นิยามทั่วไปของอาการท้องผูก คือ การที่มีอุจจาระแข็ง ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ต้องเบ่งมากกว่าปกติ รู้สึกถ่ายไม่สุด มีความรู้สึกว่าถ่ายไม่ออกเหมือนมีสิ่งอุดกั้นที่ทวารหนัก ต้องใช้นิ้วมือช่วยในการถ่ายอุจจาระ รวมทั้งมีอุจจาระนิ่มเมื่อใช้ยาระบายช่วยเท่านั้น[1] ผู้ที่ท้องผูกมักมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 2 ข้อ หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ จัดเป็นท้องผูกแบบเฉียบพลัน ในขณะที่ท้องผูกแบบเรื้อรังจะต้องมีอาการติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน[2] โดยทั่วไปหากมีอาการท้องผูกไม่รุนแรง เช่น ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ถ่ายไม่ลำบาก หรืออุจจาระแข็งแต่ยังมีความชุ่มชื้นอยู่บ้าง อาจรักษาโดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนอาหาร ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น ปรับท่านั่งถ่ายอุจจาระ เป็นต้น แต่หากมีอาการท้องผูกที่รุนแรง เช่น ถ่ายอุจจาระออกน้อยมากหรือไม่ออกเลย อุจจาระแข็งไม่ชุ่มชื้น หรืออาการที่เกิดขึ้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จะต้องทำการรักษาโดยการใช้ยาระบาย[2]

ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระคืออะไร

ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระ (bulk-forming laxatives) มีคุณสมบัติคล้ายใยอาหาร (ไฟเบอร์) ที่ไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหาร เช่น ไฟเบอร์จากเมล็ดเทียนเกล็ดหอย (psyllium husk) หรือเมทิลเซลลูโลส (methylcellulose) ยาระบายชนิดนี้เมื่อถูกน้ำจะพองตัวและอุ้มน้ำไว้ในลำไล้ ทำให้อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนนิ่มขึ้นและเพิ่มปริมาณอุจจาระ ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น[3]

ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระเหมาะกับใคร

ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระเหมาะกับผู้ที่มีความสามารถในการเบ่งถ่ายได้เอง ร่วมกับมีอุจจาระออกน้อยหรือออกเป็นก้อนเล็กแข็ง และไม่ต้องการเร่งถ่ายโดยทันที[2] โดยสามารถใช้ได้ในกลุ่มต่อไปนี้

  1. เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ไม่แนะนำให้ใช้ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระ เนื่องจากมีผลการศึกษาที่ไม่เพียงพอทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย) และผู้ใหญ่[4]
  2. ผู้สูงอายุ (แต่ให้ระวังการใช้ในผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำ)[4]
  3. หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระทั้งไฟเบอร์จากเมล็ดเทียนเกล็ดหอยและเมทิลเซลลูโลสสามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากยาไม่ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารและไม่กระจายผ่านน้ำนมไปสู่ทารก[5]

ขนาดยาแนะนำ

ขนาดยาแนะนำมีความแตกต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์ ควรตรวจสอบฉลากยาก่อนใช้และโดยทั่วไปให้เริ่มใช้ยาในขนาดที่ต่ำของคำแนะนำก่อน ข้อมูลต่อไปนี้เป็นขนาดยาโดยทั่วไป[4,5]

  1. ไฟเบอร์จากเมล็ดเทียนเกล็ดหอยในรูปแบบยาผง

- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่: 2.5-30 กรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน 1-3 ครั้งต่อวัน

- เด็กอายุ 6-11 ปี: 1.5-15 กรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน 1-3 ครั้งต่อวัน

- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ไม่แนะนำ

- หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร: เท่ากับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

2. เมทิลเซลลูโลสในรูปแบบยาผง

- เด็กอายุ 6-11 ปี: ครั้งละ 1 กรัม ไม่เกินวันละ 3 ครั้ง

- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่: ครั้งละ 2 กรัม ไม่เกินวันละ 3 ครั้ง

- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ไม่แนะนำ

- หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร: เท่ากับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

วิธีรับประทาน

ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปยาผง ก่อนรับประทานให้ละลายผงยาในน้ำเย็น (สำหรับไฟเบอร์จากเมล็ดเทียนเกล็ดหอยและเมทิลเซลลูโลส) หรือน้ำผลไม้ (สำหรับไฟเบอร์จากเมล็ดเทียนเกล็ดหอย) อย่างน้อย 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร) คนให้ละลายเข้ากันดี[4] จากนั้นดื่มให้หมดแก้วโดยทันทีและต้องดื่มน้ำตามอีกอย่างน้อย 1 แก้ว รวมถึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอในระหว่างวันขณะที่มีการรับประทานยากลุ่มดังกล่าวประมาณ 8-10 แก้วต่อวัน (2-2.4 ลิตร) เนื่องจากหากดื่มน้ำไม่เพียงพออาจทำให้ยาอุดตันในลำไส้ ส่งผลให้อุจจาระแข็งและถ่ายยากมากขึ้น[6]

ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระไม่ได้ออกฤทธิ์ในทันที โดยทั่วไปจะเริ่มเห็นผลประมาณ 2-3 วันหลังรับประทานยา[3]

ข้อควรคำนึงในการรับประทาน[6]

  1. รับประทานยาตอนกลางวัน ไม่ควรรับประทานก่อนเข้านอน เนื่องจากเพิ่มโอกาสอุดตันในลำไส้
  2. ห้ามผสมยาในน้ำร้อน เนื่องจากทำให้ผงยาไม่ละลายและกลายเป็นวุ้น
  3. ให้รับประทานยาหลังผสมโดยทันที ไม่ตั้งทิ้งไว้จนกลายเป็นวุ้น หรือเป็นของเหลวที่มีความข้นหนืด
  4. รับประทานห่างจากยาอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  5. การใช้ยาระบายเป็นการบรรเทาอาการท้องผูกชั่วคราว หากต้องใช้ยาระบายติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

ผู้ที่ห้ามใช้[4]

  1. ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระ หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ในตำรับยา
  2. ผู้ที่มีปัญหาการกลืนหรือมีปัญหาเกี่ยวกับลำคอ
  3. ผู้ที่มีทางเดินอาหารอุดตัน
  4. ผู้ที่มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเฉียบพลัน อาการอื่น ๆ ของไส้ติ่งอักเสบหรืออาการปวดท้องที่ไม่ทราบสาเหตุ

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ

เนื่องจากยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระอาจถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียภายในลำไส้แล้วเกิดเป็นแก๊ส ส่งผลให้มีอาการท้องอืดหรือปวดท้องได้ อาการไม่พึงประสงค์นี้ที่พบได้ทั่วไปหลังเริ่มใช้ยาในช่วงแรก และต่อมามักมีอาการดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยาอาจทำให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง เช่น ผื่นแดง คัน รวมทั้งเกิดอาการจมูกอักเสบหรือเยื่อบุตาอักเสบได้ ซึ่งหากมีอาการแพ้ในลักษณะดังกล่าวให้หยุดยาและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร[4]

ยาระบายกลุ่มอื่น ๆ

ยังมียาระบายในกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ ยาระบายชนิดเพิ่มน้ำในลำไส้ (osmotic laxatives) เช่น โพลีเอทิลีนไกลคอล (polyethylene glycol หรือ PEG) แล็กทูโลส (lactulose) ที่สามารถใช้ได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี[7] ยาระบายชนิดกระตุ้นการทำงานของลำไส้ (stimulant laxatives) เช่น มะขามแขก (senna) บิซาโคดิล (bisacodyl) และยาระบายชนิดทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม (stool softeners) เช่น ด็อกคิวเสต (docusate sodium) โดยการจะเลือกใช้ยาในกลุ่มใด ต้องพิจารณาจากความสามารถในการเบ่งถ่าย ลักษณะอุจจาระ และข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น โรคประจำตัว ระยะเวลาที่ต้องการเร่งถ่าย รวมถึงข้อห้ามใช้ของยาระบายแต่ละชนิด จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสมอก่อนใช้ยาระบายเหล่านี้[2]

บทสรุป

อาการท้องผูกพบได้บ่อย รักษาได้ทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา กรณีใช้ยาในการรักษา ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใช้ในการบรรเทาอาการในผู้ที่มีความสามารถในการเบ่งถ่ายได้เองและไม่ต้องการเร่งถ่ายโดยทันที รวมถึงเป็นผู้ที่ไม่มีข้อห้ามใช้ ซึ่งยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานตามคำแนะนำ โดยเฉพาะการดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันการอุดตันของลำไส้ อย่างไรก็ตามการใช้ยาเป็นระยะเวลาติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและดูแลของแพทย์

เอกสารอ้างอิง

  1. Miller LE, Ibarra A, Ouwehand AC, Zimmermann AK. Normative values for stool frequency and form using Rome III diagnostic criteria for functional constipation in adults: systematic review with meta-analysis. Ann Gastroenterol. 2017; 30:161-7.
  2. ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ. การบริบาลทางเภสัชกรรมในภาวะท้องผูกสำหรับเภสัชกรชุมชน [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 10 ก.พ. 2565]. เข้าถึงได้จาก: http://www.wongkarnpat.com/upfilecpe/CPE237.pdf
  3. ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา, เฉลิมศรี ภุมมางกูร. การจัดการภาวะท้องผูกเรื้อรังสำหรับเภสัชกรชุมชน. ว. เภสัชศาสตร์อีสาน. 2563; 16:1-15.
  4. American Society of Health-System Pharmacists. Bulk-Forming Laxatives Monograph for Professionals [Internet]. [cited 2022 Feb 10]. Available from: https://www.ashp.org/.
  5. Wald A. Constipation, diarrhea, and symptomatic hemorrhoids during Pregnancy. Gastroenterol Clin North Am. 2003; 32:309-22.
  6. Ponen S. Bulk-forming laxatives [Internet]. [cited 2022 Feb 10]. Available from: https://www.healthnavigator.org.nz/.
  7. NICE guideline. Constipation in children and young people: diagnosis and management. [cited 2022 Feb 18]. Available from: https://www.nice.org.uk/guidance/CG99.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ท้องผูก ยาระบาย ยาเพิ่มปริมาณอุจจาระ
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้