หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รักษาอย่างไร เมื่อลูกน้อยเป็นอาร์เอสวี (RSV)

โดย นศภ.พงศกร หอมจำปา และ นศภ.ณัชชา พงษ์ชาญชัย ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภญ.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2565 -- 56,742 views
 

บทนำ

โรคอาร์เอสวี (RSV) มีสาเหตุจากการติดเชื้อ RSV (ชื่อเต็ม คือ Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินหายใจที่พบได้ในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่มักมีอาการที่รุนแรงในเด็ก1 โดยจะมีการระบาดเป็นช่วง ๆ สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อน มักพบการระบาดของโรคนี้ในช่วงฤดูฝน2

อาการของโรคอาร์เอสวี1,3

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV ส่วนใหญ่มักแสดงอาการภายใน 4-6 วันหลังจากติดเชื้อ โดยอาการที่พบบ่อย คือ มีน้ำมูก ความอยากอาหารลดลง ไอ จาม มีไข้ ในรายที่รุนแรงจะหายใจมีเสียงหวีด (wheezing) ในเด็กเล็กมักมีอาการกระสับกระส่าย การเคลื่อนไหวลดลง และหายใจลำบาก สำหรับการติดเชื้อครั้งแรกอาการจะรุนแรงกว่าในการติดเชื้อครั้งต่อไป โดยทั่วไปแล้วอาการมักไม่รุนแรงในเด็กที่แข็งแรงหรือผู้ใหญ่และจะหายไปได้เอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่การติดเชื้อ RSV ในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน และผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มักจะเกิดอาการที่รุนแรง

เหตุใดการติดเชื้อในเด็กเล็กถึงรุนแรง2,4,5

เด็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง ได้แก่

  1. ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 35 สัปดาห์)
  2. ทารกอายุน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน
  3. เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตหรือโรคปอดเรื้อรังร่วมด้วย เช่น bronchopulmonary dysplasia (BPD)
  4. เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  5. เด็กที่มีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น spinal muscular atrophy (SMA)

เนื่องจากเด็กยังมีพัฒนาการของระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ และในทารกคลอดก่อนกำหนดจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ RSV ที่ได้รับจากแม่ไม่เพียงพอ รวมถึงสรีรวิทยาของเด็กซึ่งมีความยาวของระบบทางเดินหายใจที่สั้นและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดลมที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดการอุดตันและเกิดการเกาะของเชื้อในบริเวณหลอดลมและปอดได้ง่าย นอกจากนี้เด็กยังมีการระบายอากาศในถุงลมที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ลักษณะเหล่านี้ทำให้เด็กมักพบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างร่วมด้วย ซึ่งส่งผลให้มีอาการที่รุนแรง เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

การรักษาโรคอาร์เอสวีในเด็ก4,6-8

ส่วนใหญ่การติดเชื้ออาร์เอสวีจะหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ และปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้กำจัดเชื้อ RSV อย่างจำเพาะ มีเพียงการรักษาตามอาการเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจทั่ว ๆ ไปที่เกิดจากไวรัสเท่านั้น
โดยสามารถรักษาเบื้องต้น ได้ดังนี้

1. เมื่อมีไข้ ใช้ยาลดไข้ โดยแนะนำให้ใช้ paracetamol (ขนาด 10-15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อครั้ง โดยขนาดยาที่เหมาะสมควรได้รับการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร) ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการไข้ โดยใช้ไม่เกิน 5 ครั้งต่อวัน ทั้งนี้สามารถใช้ ibuprofen ได้ แต่ต้องระมัดระวังการใช้ เนื่องจากในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ RSV มักจะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกด้วย ซึ่งการใช้ ibuprofen เพื่อลดไข้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ ภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน และภาวะไตวายเฉียบพลันได้มากขึ้น ดังนั้นการเลือกใช้ ibuprofen ต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคไข้เลือดออก (สามารถอ่านคำแนะนำเรื่องการใช้ยาลดไข้เมื่อเป็นไข้เลือดออกได้จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=42)

2. เมื่อคัดแน่นจมูก ให้ดูดน้ำมูก เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่สามารถสั่งน้ำมูกด้วยตัวเองได้ ดังนั้นการมีน้ำมูกอุดตันในจมูกจึงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ดูดน้ำมูก เช่น ลูกยางแดง หากน้ำมูกข้นเหนียวอาจใช้น้ำเกลือหยอดจมูกแล้วค่อยดูดน้ำมูกออก

3. หากจะใช้ยาอื่น ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีส่วนประกอบที่ส่งผลเสียต่อเด็กได้ อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและเข้าได้กับอาการที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลดังที่จะกล่าวต่อไป ควรพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อให้ผู้ป่วยได้การรักษาที่เหมาะสม เช่น การให้ออกซิเจน การให้สารน้ำ หรือการให้ยาขยายหลอดลม เป็นต้น และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

อาการที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล4

กรณีที่มีอาการดังต่อไปนี้ ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

  1. มีอาการหายใจลำบากรุนแรง เช่น หายใจอกบุ๋ม หายใจเสียงดัง
  2. ตัวเขียว หยุดหายใจ หรือภาวะหายใจล้มเหลว
  3. มีภาวะพร่องออกซิเจน (วัดออกซิเจนปลายนิ้วได้ SpO2 < 95%)
  4. มีภาวะขาดน้ำหรือประวัติรับประทานได้ไม่ดี

การติดต่อของโรคอาร์เอสวี1,6

เชื้อ RSV สามารถติดต่อได้โดยผ่านละอองจากการไอหรือจามของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเข้าสู่ตา จมูก หรือปาก เด็กวัยเรียนอาจนำเชื้อ RSV มาติดต่อสู่เด็กเล็กในบ้านเดียวกันผ่านการสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อ เช่น ลูกบิดประตู และสัมผัสใบหน้าต่อโดยที่ไม่ได้ล้างมือก่อน หรือการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อ RSV เช่น การจูบที่ใบหน้าของผู้ป่วย ซึ่งเชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและสามารถอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที ดังนั้นผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กป่วยในบ้านควรล้างมือบ่อย ๆ ก่อนสัมผัสเด็ก โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV จะแพร่เชื้อได้นาน 3-8 วันหลังมีอาการป่วย แต่อย่างไรก็ตามเด็กเล็กบางรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องสามารถแพร่เชื้อ RSV ได้นานถึง 4 สัปดาห์

การป้องกันโรคอาร์เอสวีด้วยตนเอง1,9

โรคอาร์เอสวีมักระบาดเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน สามารถติดต่อได้ผ่านละอองจากการไอหรือจามของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ผ่านการสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อหรือสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้ออาร์เอสวีสามารถทำได้ดังนี้

  1. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อย ๆ อย่างน้อย 20 วินาที ในแต่ละครั้ง
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณใบหน้า ตา จมูก ปาก หากยังไม่ได้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่มีอาการของไข้หวัด โดยควรแยกตัวหรืออยู่ห่างจนกว่าจะมีอาการหายดี
  4. เมื่อไอหรือจามควรปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชูเสมอ ทิ้งกระดาษทิชชูลงในถังขยะที่เหมาะสมและล้างมือให้สะอาด
  5. ทำความสะอาดสิ่งของหรือบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู ของเล่น
  6. หากมีอาการป่วยควรหยุดเรียนและไม่ออกไปที่สาธารณะ

วัคซีนและยาสำหรับป้องกันการติดเชื้อ4,10

สำหรับการป้องกันในเด็กที่มีความเสี่ยงสูงต่อความรุนแรงจากการติดเชื้อ มีการศึกษาในต่างประเทศโดยใช้ยา palivizumab บริหารยาโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุกเดือนในช่วงระบาดของ RSV ในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ตรงตามเงื่อนไข แต่ยานี้ยังไม่ได้รับการรับรองและยังไม่ได้มีจำหน่ายในประเทศไทย อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อ RSV แต่กำลังมีการพัฒนาวัคซีนดังกล่าว โดยศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างของทารกที่เกิดจากแม่ที่ได้รับวัคซีน รวมถึงศึกษาความปลอดภัยของวัคซีนต่อแม่และทารกร่วมด้วย การศึกษานี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2567

เอกสารอ้างอิง

  1. Centers for disease control and prevention. Respiratory syncytial virus infection (RSV) [Internet]. 2020 [cited 2021 June 22]. Available from: https://www.cdc.gov/rsv/index.html
  2. Thongpan I, Poovorawan Y. Respiratory Syncytial Virus (RSV). Thai J Pediatr 2018; 57: 141-4.
  3. Barr FE, Graham BS. Respiratory syncytial virus infection: Clinical features and diagnosis. Up-to-Date [database on the Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 1978-2021 [cited 2021 June 22] Available from: https://www.uptodate.com/contents/respiratory-syncytial-virus-infection-clinical-features-and-diagnosis?search=Respiratory%20 syncytial%20virus% 20infection:%20Clinical%20features%20and%20diagnosis& source=search_result&selectedTitle=1~150&usage_type=default&display_rank=1
  4. สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจเด็ก พ.ศ. 2562 [อินเทอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 22 มิ.ย. 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://www. thaipediatrics.org/Media/media20190906151602.pdf
  5. Pickles RJ, DeVincenzo JP. Respiratory syncytial virus (RSV) and its propensity for causing bronchiolitis. J Pathol 2015; 235:266-76.
  6. กิจจาวรรณ เฮงคราวิทย์, ทวี โชติพิทยสุนนท์. โรคติดเชื้ออาร์เอสวี RSV [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 22 มิ.ย. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.pidst.or.th/A667.html
  7. Acetaminophen (paracetamol). Up-to-Date [database on the Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 1978-2021 [cited 2021 June 30]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/acetaminophen-paracetamol-drug-information?search=acetaminophen&source= panel_ search_ result&selectedTitle=1~148&usage_ type= panel&kp_tab=drug_general&display_rank=1
  8. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่ พ.ศ.2563 [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 30 มิ.ย. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https:// www.dms.go.th/ backend// Content/Content_FIle/Bandner_(Small)/Attach/256403021 03903AM _ CPG%20Adult%20Dengue.pdf
  9. อลิษา ขุนแก้ว, เสน่ห์ ขุนแก้ว, บุษกร ยอดทราย, ปณัชญา เชื้อวงษ์. บทบาทพยาบาลกับการดูแลเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV. วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข 2020; 30:36-45
  10. GSK starts phase 3 study of RSV maternal candidate vaccine [Internet]. 2020 [cited 2021 June 22]. Available from: https://www.gsk.com/en-gb/media/press-releases/gsk-starts-phase-3-study-of-rsv-maternal-candidate-vaccine/


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
การรักษา อาร์เอสวี RSV
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้