เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ผู้สูงอายุกับภาวะความอยากอาหารที่ลดลง


ผู้ช่วยศาสตตราจารย์ ดร. ยิ่งรัก บุญดำ ช่วยบุญ

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 3,861 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/07/2567
อ่านล่าสุด 8 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยเคยเผชิญกับอาการเบื่อไม่อยากรับประทานอาหารและรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อยเหมือนเดิม อาการแสดงดังกล่าวส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารลดลง น้ำหนักลด และเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าวิตกกังวลในผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสาเหตุการนำไปสู่ปัญหาอื่นอีกมากมาย เช่น ภาวะเสื่อมถอยของอวัยวะและสมรรถภาพของบุคคล การหกล้ม แผลกดทับ แผลหายช้า การอยู่ในโรงพยาบาลที่ยาวนานขึ้น ภาวะเนื้อกระดูกอ่อน กระดูกพรุน ข้อสะโพกหัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น และหากภาวะขาดสารอาหารไม่ได้รับการแก้ไข้ อาจนำไปสู่การเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้ 

สาเหตุของความอยากอาหารที่ลดลงในผู้สูงอายุ

บทความฉบับนี้จะเน้นยังปัจจัยทางด้านสรีรวิทยาของร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะสูงวัย ซึ่งเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เราทุกคน การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาดังกล่าว ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหาร การทำงานของฮอร์โมน การรับความรู้สึก รวมถึงความต้องการพลังงานของร่างกายที่ลดลง 

1. การเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหาร

พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ร่างกายจะมีการผลิตน้ำลายที่ลดลง ส่งผลให้การบดเคี้ยวอาหารและการกลืนลำบากขึ้น นอกจากนี้ปัญหาด้านสุขภาพฟัน ช่องปาก การใส่ฟันปลอม ล้วนส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร และการรับรู้รสชาติของอาหารได้ทั้งสิ้น การบีบตัวของกระเพาะจนอาหารออกไปยังลำไส้เล็กจนหมดเกลี้ยงใช้ระยะเวลานานขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกอิ่มนานขึ้น แน่นท้อง นำไปสู่ความไม่อยากอาหาร ภาวะท้องผูกเป็นอีกปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากอุจจาระที่สะสมอยู่ในลำไส้ใหญ่นั้นจะไปดันให้กระเพาะเกิดการยืดขยาย รวมถึงส่งเสริมให้แบคทีเรียสามารถย่อยของเสียได้นานขึ้น ก่อให้เกิดแก๊สอันเป็นสาเหตุของท้องอืด และปวดท้อง 

2. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

พบว่าฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหารมีปริมาณและการทำงานที่ลดลงเมื่อเข้าสู่ภาวะสูงวัย โดยในภาวะทั่วไป ช่วงวัยอื่น ๆ ในช่วงอดอาหารฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นความอยากอาหารจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ในวัยสูงอายุกลับมีระดับที่ลดลง เช่นเดียวกับฮอร์โมนที่ลดความอยากอาหาร และทำให้รู้สึกอิ่ม  เช่น ฮอร์โมน CCK (cholecystokinin) และ ฮอร์โมนเลปติน (leptin) ซึ่งโดยปกติจะสูงขึ้นหลังรับประทานอาหาร กลับมีระดับตั้งต้นที่เพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความอยากอาหารที่ลดลง แม้จะเป็นช่วงที่ร่างกายอดอาหาร

3. การเปลี่ยนแปลงของระบบรับความรู้สึก

รสชาติ กลิ่น การมองเห็น ล้วนแต่เป็นระบบรับความรู้สึกที่ช่วยให้มนุษย์เราเพลิดเพลินไปกับการรับประทานอาหาร การรับความรู้สึกที่ลดลงเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะสูงวัย การรับกลิ่นที่ลดลงเกิดจากการทำงานของเส้นประสาทที่เสื่อมถอย และการผลิตสารคัดหลั่งในโพรงจมูกที่มีปริมาณลดลง ส่งผลให้การละลายของโมเลกุลกลิ่น รวมถึงการรับรู้ของตัวรับกลิ่นแย่ลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุจะมีการรับรสเค็มและรสหวานที่แย่ลง อาจทำให้การปรุงอาหารมีการเติมเกลือและน้ำตาลเพิ่มอาจขึ้น ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ใช้อธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดผู้สูงอายุจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

4. การเปลี่ยนแปลงความต้องการพลังงานของร่างกาย

ความต้องการพลังงานของร่างกายจะขึ้นกับอัตราการเผาผลาญพื้นฐานของร่างกาย การสร้างความร้อนจากอาหาร รวมถึงการสร้างความร้อนจากกิจกรรม เป็นต้น พบว่าในภาวะสูงวัยจะมีการใช้พลังงานที่ลดลง เนื่องจากร่างกายมีการลดลงของมวลไขมัน และมวลกล้ามเนื้อ รวมถึงการทำกิจกรรมทางกายที่ลดลง ร่างกายจึงมีความต้องการพลังงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็ตาม ความต้องการพลังงานของร่างกายจะแตกต่างกันไปขึ้นกับปริมาณของสารชีวโมเลกุลอันเป็นองค์ประกอบของร่างกาย และวิถีทางการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลร่วมด้วย

นอกจากปัจจัยทางสรีรวิทยาที่กล่าวมาแล้วนั้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อความอยากอาหารที่ลดลง ยังมีอีกหลากหลายปัจจัย อาทิเช่น สภาพจิตใจ ภาวะโรคภัย รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยา การรู้ถึงสาเหตุของปัญหา และแก้ปัญหาให้ตรงจุด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มความอยากอาหารของผู้สูงอายุได้ 

Image by freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Pilgrim, A. L., Robinson, S. M., Sayer, A. A., & Roberts, H. C. (2015). An overview of appetite decline in older people. Nurs Older People, 27(5), 29-35.
  2. Geary, N. (2004). Endocrine controls of eating: CCK, leptin, and ghrelin. Physiology & Behavior, 81(5), 719-733.
  3. Methven, L., Allen, V. J., Withers, C. A., Gosney, M. A. (2012). Ageing and taste. PNS, 71(4), 556-65.
  4. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1568
  5. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/bloating-causes-and-prevention-tips
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
อันตรายจากการสัก 11 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้