Eng |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกเหนือจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตาอักเสบแล้ว เชื้ออะมีบายังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดโรคตาอักเสบได้ ตามรายงานข่าวล่าสุดในประเทศไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคตาตาอักเสบจากเชื้ออะแคนทามีบา (Acanthamoeba keratitis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ “อะแคนทามีบา (Acanthamoeba)” ซึ่งพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำในธรรมชาติ น้ำประปา สระว่ายน้ำ น้ำหล่อเย็น น้ำทิ้ง น้ำโสโครก ดินและโคลนเลน
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและการติดเชื้อ
การติดเชื้อมักพบการติดเชื้อบริเวณกระจกตาโดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่กระจกตาหลังสัมผัสกับน้ำ ดินหรือสิ่งของอื่นที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยทั่วไปจะพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่รักษาความสะอาดหรือล้างเลนส์ด้วยน้ำยาไม่สะอาด เนื่องจากการเกิดคราบฟิล์มบนคอนแทคเลนส์ที่เอื้อต่อการคงอยู่และป็นแหล่งอาหารของเชื้อ นอกจากนี้ อาจพบได้ในผู้ที่มีประวัติสิ่งแปลกปลอมที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าดวงตา การว่ายน้ำหรือล้างตาขณะใส่คอนแทคเลนส์ หรือผู้มีกิจกรรมที่สัมผัสกับน้ำรวมถึงมีการกระเด็นของน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อเข้าตา เช่น การแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ การล้างตาด้วยน้ำไม่สะอาดผนเปื้อนเชื้อ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้อจากคนสู่คน
อาการของโรค
อาการที่พบบ่อยได้แก่ ระคายเคืองที่ดวงตา ปวดเจ็บตาโดยผู้ที่ติดเชื้อจะปวดตามาก มีน้ำตาไหล ตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้หรือตาแพ้แสง ตาพร่ามองภาพได้น้อยลง กระจกตาขุ่นโดยอาจเห็นวงแหวนสีขาวขุ่น (stromal ring infiltrate formation) ที่กระจกตา มีแผลและหนองที่กระจกตา มีการอักเสบที่รูม่านตา ผู้ป่วยบางรายอาจมีม่านตาและเปลือกลูกตาอักเสบ มีหนองในลูกตา ในรายที่มีอาการมากหรือติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำร่วมด้วยอาจทำให้รักษาได้ยากและทำให้เสี่ยงต่อตาบอดได้
การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะพิจารณาจากอาการทางคลินิกและประวัติการสัมผัสแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงประวัติการใช้และทำความสะอาดคอนแท็กเลนส์ นอกจากนี้อาจมีตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่นการเพาะแยกเชื้อจากคอนแท็กเลนส์ ตลับใส่คอนแท็กเลนส์ หรือการขูดแผลที่กระจกตาไปย้อมสีหาเชื้อหรือเพาะเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาเชื้อได้โดยใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยาเช่น พีซีอาร์ (PCR)
การรักษา
ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและการใช้ยาป้ายตาที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อ เช่น 0.02% polyhexamethylene biguanide (PHMB) หรือ 0.02% chlorhexidine ร่วมกับ 0.1% propamidine หรือ 0.1% hexamidine โดยใช้ระยะเวลารักษาประมาณ 6-12 เดือน ผู้ที่ติดเชื้อนี้ควรรีบเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อไปยังสมอง การรักษามักได้ผลในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและเข้ารักษาได้ทันท่วงที ในผู้ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยอาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเช่น neomycin หรือ chloramphenicol ควบคู่ด้วย นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเริ่มแรกอาจใช้วิธีกำจัดผิวกระจกตาที่ติดเชื้อออก (debridement) ถ้าในผู้ป่วยที่มีอาการหรือมีการดำเนินโรคมากอาจต้องปลูกถ่ายกระจกตาใหม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อและโรคนี้
การป้องกันโรค
1. ระวังอย่าให้ฝุ่นดินหรือน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติสัมผัสถูกแผลเข้าตาหรือจมูก
2. หากน้ำสกปรกหรือฝุ่นละอองเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันทีและหลีกเลี่ยงการขยี้ตา
3. ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่รวมถึงไม่อยู่ใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
4. ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ควรหมั่นทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและสวมใส่อย่างถูกวิธีรวมถึง เก็บคอนแทคเลนส์ในภาชนะที่เหมาะสมและปราศจากเชื้อ
5. หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์เมื่อทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสกับน้ำเช่น ในขณะอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือเมื่อแช่อ่างน้ำร้อน
6. หมั่นทำความสะอาดแทงค์น้ำใช้และสระว่ายน้ำให้สะอาดและถูกวิธีเสมอ ซึ่งเชื้อนี้ถูกทำลายด้วยการเติมคลอรีนลงไปในน้ำ โดยให้มีคลอรีนอิสระคงเหลือไม่ต่ำกว่า 0.2 ส่วนในล้านส่วน (ppm)
7. ถ้ามีอาการตาแดง ตาอักเสบควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที
8. เมื่อพบเชื้อดังกล่าวในน้ำใช้ของหน่วยงานหรือที่พักอาศัยต่าง ๆ และพบผู้ป่วยจากการติดเชื้อดังกล่าว ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าสวบสวนโรคและปรับปรุงน้ำให้ได้มาตรฐาน
1. กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. กรมควบคุมโรค ติดตาม แจ้งเตือนประชาชนกรณีพบผู้ป่วยตาแดงจำนวนมากในคอนโดมิเนียม โดยพบเชื้อปรสิตในน้ำประปาในห้องพัก [อินเทอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 4 กันยายน 2567].
2. อัญชลี วรรณสาร. อะแคนทามีบา (Acanthamoeba). วารสารเทคนิคการแพทย์เชียงใหม่. 2553;43(1): 20-9.
3. ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน. โปรโตซัวทางการแพทย์ (Medical protozoology). พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: วัฒนกิจพาณิชย์; 2560
4. Centers for Disease Control and Prevention, National Center for Emerging and Zoonotic Infectious Diseases (NCEZID), Division of Foodborne, Waterborne, and Environmental Diseases (DFWED). Acanthamoeba Keratitis Fact Sheet for Healthcare Professionals [Internet]. 2017 [Cited 2024 Sep 4].